SCGD มั่นใจฐานการผลิตเวียดนาม หนุนเติบโตระยะยาว ลดต้นทุนในไทย รับมือความผันผวนเศรษฐกิจ
เมื่อไม่นานมานี้ Share2Trade ได้มีโอกาสฟังมุมมองกลยุทธ์จากคุณนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ในรายการ LIB Insight ของ บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด
โดยคุณนำพล ได้เล่าถึงแผนภาพรวมการลดต้นทุนด้านพลังงานของ SCGD และการที่จะใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆนอกเหนือจากกลุ่ม CLMV รวมถึงการผลิตสินค้าที่เป็นแบบ HVA เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ SCGD มีแผนรับมือกับความผันผวนของพลังงานอย่างไร และแผนรับมือนี้จะช่วยได้มากน้อยขนาดไหน การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะกลับมาเมื่อไหร่ และกลยุทธ์อะไรเป็นปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต share2trade จะพาไปหาคำตอบ
โดยเริ่มเรื่องคุณนำพล เล่าว่าผลประกอบการของ SCGD ในไตรมาส 1/68 ที่ผ่านมาบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ
ซึ่งในเรื่องของนโยบายภาษีของทางสหรัฐนั้น SCGD ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯน้อยกว่า 1% รวมไปถึงในด้านของความผันผวนของราคาพลังงานก็มีแนวโน้มที่จะทรงตัว
ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าดีมานในประเทศจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศยังมีสัญญาณเป็นบวก โดยเฉพาะในเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
คุณนำพล อธิบายว่า สิ่งที่บริษัททำมาโดยตลอดก็คือเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการทำในด้านของการประหยัดพลังงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของต้นทุนพลังงาน
โดยบริษัทฯ ดำเนินงานด้านการลดต้นทุนด้านพลังงานด้วยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ และใช้พลังงานความร้อนจากพลังงานชีวมวล เพื่อลดความผันผวนจากราคาพลังงาน ซึ่งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง
ล่าสุดโรงงานที่ประเทศเวียดนาม ได้มีการลงทุนก่อสร้างโรงไบโอแมส แก๊ซซิไฟเออร์ เพื่อนำเชื้อเพลิงชีวมวล มาผลิตเป็นพลังงานความร้อนในกระบวนการอบกระเบื้อง ลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งช่วยประหยัดไปได้ปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ คุณนำพล ยังได้ขยายความต่อว่า มองเห็นตลาดที่เวียดนามมีศักยภาพในการเติบโต และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะชะลอตัวมาแล้วกว่า 2 ปี
ดังนั้น SCGD จึงมีแผนว่าต่อจากนี้ไปจะใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิต และส่งออกไปยังทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพราะเนื่องจากมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
สำหรับกลุ่มประเทศที่ SCGD มีแผนจะขยาย และไปทำตลาดให้มากขึ้นคือประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เปรียบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และออสเตรเลียมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะดีขึ้น
อีกทั้งจะขยายไปยังกลุ่มประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่มีภาษีนำเข้ากับจีน และยังมีบางกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่บริษัทได้เริ่มส่งสินค้าตัวอย่างไปแล้ว
รวมไปถึง SCGD ได้มีการลงทุนในสินค้า HVA ในกลุ่มกระเบื้องที่เวียดนาม ซึ่งสัดส่วนของสินค้าดังกล่าวมียอดขายที่เติบโตในไตรมาส 1/68 จึงสนับสนุนให้สัดส่วนของสินค้า HVA เพิ่มขึ้นเป็น 35-36% ของยอดขายรวม
สำหรับประเด็นเรื่องการแข่งขันกับสินค้าจากจีนนั้น SCGD ได้มีการบริหารเรื่องของต้นทุนการผลิตเพื่อให้ลดลงเท่ากับสินค้าจากประเทศจีนให้ได้มากที่สุด
ด้วยวิธีการปรับโครงสร้าง ปรับสูตร และเพิ่มประสิทธิภาพในหลายด้าน รวมไปถึงโครงสร้างด้านพลังงานที่เวียดนามใช้ถ่านหิน ซึ่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับจีนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสุดท้ายแล้วส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนได้ต่ำกว่าสินค้านำเข้าจากจีน
ทั้งนี้หากดูในแง่ของงบการเงิน คุณนำพล ฉายภาพให้เห็นว่า SCGD มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีสินทรัพย์ประมาณ 3.94 หมื่นล้านบาท และมีเงินสดจำนวน 9,200 ล้านบาท มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย จำนวน 13,857 ล้านบาท
ขณะที่ Net Debt to EBITDA อยู่ที่ 1.4 เท่า ขณะที่ D/E อยู่ที่ 0.2 เท่า ซึ่งส่งผลให้บริษัทยังมีความสามารถในการที่จะสร้างการเติบโตด้วยการทำ M&A ซึ่งอยู่ในแผนตั้งแต่ที่ได้มีการควบรวมกันมาแล้ว
โดยบริษัทก็มีแผนที่จะขยายกำลังผลิตสุขภัณฑ์และเซรามิกที่เวียดนาม ถึงแม้ว่าในขณะนี้มาร์เก็ตแชร์ของผลิตภัณฑ์เซรามิกจะเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่สัดส่วนยังไม่เยอะมาก ดังนั้นจึงยังสามารถทำ M&P เพื่อขยายการเติบโตได้
ขณะที่ด้านสุขภัณฑ์ ปัจจุบัน SCGD มีโรงงานหลักๆที่ประเทศไทย ซึ่งบริษัทมีแผนเร่งขยายธุรกิจไปยังในอาเซียน ทำให้ต้องการฐานการผลิตแหล่งที่สองโดยเฉพาะที่เวียดนาม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่
สำหรับภาพของในอนาคต คุณนำพล ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลาดในเมืองไทยยังมองไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากปัจจัยตัวแปรด้านของการเมืองที่ยังทำให้ไม่เห็นสัญญาณที่เป็นบวก
แต่ขณะที่ในตลาดฝั่งต่างประเทศ SCGD เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยเฉพาะที่เวียดนาม ซึ่งมีความจำเป็นที่ทำให้ SCGD จะต้องเร่งกระตุ้น เพื่อให้ยอดขายมาชดเชยกับภาพรวมของบริษัท
ส่วนในด้านของต้นทุนพลังงาน ก็เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน จะช่วยลดความผันผวนจากปัจจัยภายนอกได้
โดยคุณนำพล กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ SCGD ทำมาโดยตลอดเช่นการคุมต้นทุน และการเพิ่มสินค้า HVA นั้นหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ถ้าอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัว ก็จะเป็นบวกกับธุรกิจของบริษัท
สำหรับมุมมองในด้านของความกังวลทางธุรกิจคุณนำพล เล่าว่า เนื่องจากไทยเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุด และเห็นสัญญาณแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้มีปรับโครงสร้างภายใน และทำต้นทุนให้ดีขึ้น เพื่อรอดีมานกลับมา
ส่วนต่างประเทศ ความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศเวียดนามสามารถเติบโตและชดเชยภาพรวมของกลุ่มที่หายไปได้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่ง โดยสัญญาณเป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/68
แต่อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการจากต่างประเทศนั้น ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาผลประกอบการซึ่งแสดงเป็นเงินบาท อาจจะไม่เห็นผลประกอบการที่แท้จริงได้
สุดท้ายคุณนำพล ได้เล่าว่า SCGD ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมองว่าตลาดในกลุ่มอาเซียนยังเป็นโอกกาสที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัท
ยอดนิยม
%20copy_0.jpg)
GULF เตรียมงบลงทุน 4.2 หมื่นลบ. ลุยผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 746 MW ขายไฟให้ กฟผ. 25 ปี คาดเริ่ม COD ปี 69
%20copy_0.jpg)
SCC ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว! โบรกฯ อัพเกรดเป็น “ซื้อ” เพิ่มเป้า 200 บาท ชี้ Q3 เป็นจังหวะสะสม เข้าสู่รอบฟื้นตัว
%20copy_0.jpg)
CHAYO ดิ่ง 5 วันติดกว่า 16% ผวา! ข่าวลือขยายเวลาชำระหุ้นกู้ ฉุดความเชื่อมั่น โบรกฯ มองเสี่ยง แนะเลี่ยงลงทุน

SCGD มั่นใจฐานการผลิตเวียดนาม หนุนเติบโตระยะยาว ลดต้นทุนในไทย รับมือความผันผวนเศรษฐกิจ
.jpg)