Talk of The Town

ITC-AAI เจ็บมากสุด! หลัง “ทรัมป์” เก็บภาษีไทยโหด โบรกฯชี้ฉุดกำไรปี 69 ดิ่ง 15-20%


08 กรกฎาคม 2568

ปธน.ทรัมป์ประกาศภาษีศุลกากร 14 ประเทศ มีผล 1 ส.ค. ไทยโดน 36% โบรกฯ คาดกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงเจ็บหนัก เหตุมีรายได้จากสหรัฐฯสูงถึง 50-60% ชี้หากรายได้จากสหรัฐฯลดลง ฉุดกำไรปี 69 ถึง 15-20%

ITC-AAI เจ็บมากสุด_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองเป็นลบต่อกลุ่มส่งออก โดยสะท้อนว่าผลการเจรจาก่อนหน้านี้อาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม การเลื่อนวันมีผลบังคับใช้เป็นวันที่ 1 ส.ค. ยังเปิดรูมในการเจรจาอยู่ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลไทยมีการส่งข้อเสนอที่แก้ไขกลับไปใหม่ในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ยังต้องติดตามความคืบหน้าผลการเจรจาและข้อเสนอหลังจากนี้ 

ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ยังมีความเสี่ยงมากสุด เนื่องจากมีรายได้สหรัฐสูงถึง 50-60%โดยประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 36% และยอดขายจากสหรัฐลดลง 36% ใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราภาษีที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บ

ดังนั้น ประเมินจะกระทบกำไรปกติปี 2569 ของ AAI ราว 20% และ ITC ราว 15% นอกจากนี้แม้ว่าระยะสั้นการสวิทช์ไปสั่งซื้อประเทศอื่นยังทำได้ไม่เร็ว แต่มองว่ายังต้องติดตามความเสี่ยงดังกล่าวในระยะถัดไป โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีต่ำกว่าไทยที่ 20% (สหรัฐมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยและเวียดนามที่ 34% และ 4% ตามลำดับ)

ต่อมา TU มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 40% ขณะที่หากอิงอัตราภาษีนำเข้าก่อนการประกาศมาตรการในเดือน เม.ย. 2568 เดิมสหรัฐมีการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องจากไทยราว 9-10% ประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 36% จะกระทบกำไร TU ปี 2569 ราว 10%

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว PLUS มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ 44% ประเมินยอดขายสหรัฐที่ลดลง 36% จะกระทบกำไรปกติของบริษัท 6-10% ขณะที่ COCOCO มีสัดส่วนรายได้จาก สหรัฐ 24% ประเมินยอดขายสหรัฐที่ลดลง 36% จะกระทบกำไรปกติของบริษัท 4% อย่างไรก็ตามความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดโลกที่สูง และบริษัทมีปรับขึ้นราคาไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้มองผลกระทบจำกัดต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ลดลง

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA, AMATA) จากอัตราภาษีของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงกว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% จะมีนัยต่อต้นทุนการผลิตในไทยและส่งออกไปสหรัฐสูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยลดลงกระทบกลุ่มนิคมฯ

NER แม้ปัจจุบันไม่มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐฯโดยตรง แต่มองว่าบริษัทมีโอกาสได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ลูกค้าของบริษัทมีการส่งออกล้อยางไปสหรัฐ เบื้องต้นประเมินสำหรับยอดขายรวมของ NER ที่ลดลงทุกๆ 5% จะกระทบกำไรปี 2569 ราว 6%

SAPPE มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐที่ 5% มองว่ากระทบจำกัด โดยหากปี 2569 ไม่มีรายได้จากสหรัฐฯจะกระทบกำไรราว5%

EPG แนวโน้มกระทบไม่มาก โดยโรงงาน Aeroflex ที่สหรัฐฯมีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย จะกระทบต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่บริษัทมีแผนปรับราคาขายขึ้นจากเดิม 5-10% ชดเชยต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยตามภาษีศุลกากรที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันคู่แข่งมีการขึ้นราคาไปแล้ว