จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : WP ผลงานโตต่อเนื่อง รับมาตรการลดหย่อนภาษี ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 2 แสนบาท


04 กรกฎาคม 2568

บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ผลงานยังเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 แสนบาท โดย SCB EIC วิเคราะห์ช่วยเพิ่มแรงจูงใจช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น สนับสนุนเป้าหมายติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มอีก 5 เมกะวัตต์

WP รายงานพิเศษ_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในที่อยู่อาศัย สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) และเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1)–(8) ของประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ระบบที่ติดตั้งต้องเป็นแบบ On-grid ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยกำหนดขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และต้องมีเอกสารประกอบการติดตั้งครบถ้วน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC  ระบุว่า  มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือน ท่ามกลางแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นและความตื่นตัวของประชาชนต่อพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการประกาศใช้

มาตรการลดหย่อนภาษี จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าในปี 2023 ศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022

ยังอยู่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด สะท้อนว่าการติดตั้งยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC ในช่วงต้นปี 2025 พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 2,257 ราย สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการติดตั้งที่อยู่ในระดับสูง มาตรการลดหย่อนภาษี 200,000 บาท

ดังนั้นคาดว่าว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจติดตั้งได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระภาษีได้ราว 6,100 - 50,000 บาท ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังถือเป็น สัญญาณเชิงนโยบายจากภาครัฐ ที่แสดงถึงความจริงจังในการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน

แต่แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง” มากที่สุด (26% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รองลงมาคือ “การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง” (20%)

ขณะที่ความต้องการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ การปลดล็อกการขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ถูกกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ SCB EIC ยังพบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ 3 ด้านในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้แก่ 1) การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและราคาที่เหมาะสมของผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้ 2) ข้อจำกัดในการจัดหาเงินส่วนตัว โดยกว่า 50% ของผู้ติดตั้งใช้เงินสดและการจัดหาเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเองซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการหาแหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสะท้อนความต้องการแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายของผู้บริโภค และ 3) ความยุ่งยากของกระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ทั้งในด้านการติดต่อหน่วยงาน, การเตรียมเอกสาร และการนัดตรวจสอบสถานที่ติดตั้ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

ความต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ  นอกจากกระตุ้นความต้องการใช้บริการแล้ว ยังส่งผลดีต่อบริษัทที่ทำธุรกิจนี้  โดยเฉพาะ บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP)  ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์ "เวิลด์แก๊ส" แต่บริษัทได้มีการต่อยอดทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 

โดยนางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WP  ระบุว่า บริษัทมีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจากการลงทุนในธุรกิจติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งปัจจุบันได้เซ็นสัญญาลูกค้าไปแล้ว 11 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2568 ตั้งเป้าเซ็นสัญญาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มอีก 5 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recuring Income) ให้กับกลุ่มบริษัท

"ธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซ LPG ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่จะสร้างรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจด้าน Green Energy เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว" นางสาวชมกมล กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯตั้งงบลงทุนไว้ที่ 300 ล้านบาท แบ่งเป็น รองรับแผนขยายจุดกระจายสินค้า จำนวน 5 แห่ง มูลค่าลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 177 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และรองรับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงลงทุนในธุรกิจ Green Energy จำนวน 80 ล้านบาท และลงทุนส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนวน 70 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

และวางกรอบการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environment, Social, Governance : ESG) ครบถ้วนทุกมิติ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในอนาคตและมีแผนเตรียมพร้อมในการเข้าร่วมประเมิน FTSE Russell ESG Scores ปี 2569 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

WP