จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : บริโภคในประเทศฟื้น-ยอดขายตปท.โต ดันผลงาน SNNP ปี 66 โต 2 หลัก


25 มกราคม 2566
 การบริโภคในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวและยอดขายกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนยอดขาย บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) ปี 2566 โตเป็นตัวเลข 2 หลัก  สอดคล้องกับที่บล.เมย์แบงก์ปรับเป้าราคาหุ้นเป็น 27.50  บาท 

รายงานพิเศษ บริโภคในประเทศฟื้น 250123.jpg

กำลังซื้อของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นับเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของบมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP)  ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว เช่น เยลลี่พร้อมดื่มและเยลลี่คาราจีแนน ภายใต้ตราสินค้าเจเล่ ปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น ภายใต้ตราสินค้าเบนโตะ และขนมขึ้นรูปและขนมปังแท่งภายใต้ตราสินค้าดอกบัว โลตัส เป็นต้น

ดังนั้นการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  จึงส่งผลดีต่อยอดขายของ SNNP  โดย “วิโรจน์ วชิรเดชกุล”  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ  SNNP มั่นใจรายได้ปี 2566 จะ เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก  โดยมาจากยอดขายในประเทศที่คาดโต 15% หลังการบริโภคฟื้นตัว กลับมาดีกว่าก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่ยอดขายต่างประเทศวางเป้าหมายโตสูงถึง 50%        
       
บริษัทจึงเตรียมความพร้อมด้านการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคที่จะกลับมา โดยจะเร่งผลิตสินค้า "เบนโตะ" ในเวียดนามให้เริ่มได้ในเดือน พ.ค.66 เร็วกว่าแผนเดิมในไตรมาส 3/66 ขณะเดียวกันได้ปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ (pocket-size) เพื่อดันมาร์จิ้นเพิ่มประมาณ 7-8%  โดยล่าสุด เตรียมส่งสินค้า pocket-size ใหม่วางขายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ใน tourist distribution (สาขาที่กระจายอยู่ในเมืองท่องเที่ยว) จำนวน 600 สาขา 
         
นอกจากนี้ยังมีการปรับการสต็อกสินค้าในกลุ่มค้าส่งทั่วประเทศให้ลดลงเหลือ 15 วัน จากเดิมที่ 30 วัน เพื่อไม่ให้สินค้าขาดหน้า Shelf ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการซื้อ และเพิ่มโอกาสให้การขาย          
ด้านยอดขายจากต่างประเทศในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% โดยเฉพาะในเวียดนาม บริษัทวางเป้ายอดขายเติบโตไว้ที่ 1,000 ล้านบาท จากปี 65 ที่คาดทำได้ 600 ล้านบาท รับปัจจัยบวกจากการเริ่มเดินเครื่องผลิตโรงงานใหม่ในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 30%  
   
และจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นก็คาดว่าจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยวางเป้าอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปี 65 ที่อยู่ระดับ 30%
          
สอดคล้องกับมุมมอง บล.เมย์แบงก์  ที่วิเคราะห์หุ้น SNNP และเชื่อว่ามีศักยภาพเติบโตแข็งแกร่ง  บริษัทจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการและราคาเป้าหมาย   ยังคงคำแนะนำ ซื้อ SNNP โดยปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 27.50 บาท อิง DCF (WACC 8.2% และ G.3.5%) จากเดิม 21.20 บาท   ปรับประมาณการกำไรปี2565-2567 ขึ้น 10-26% สะท้อนแนวโน้มยอดขายและอัตรากำไรดีกว่าที่คาดจากการเติบโตของยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีโอกาสเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์   ประเมินกำไรปี2566 และ 2567 เพิ่มขึ้น 30% และ 21% ตามลำดับ 

อีกทั้งคาดว่ากำไร 4Q65 ที่จะประกาศในวันที่ 21 ก.พ. เป็นกำไรสูงสุดใหม่ คาดยอดขายและกำไรปกติ4Q65 สูงเป็นประวัติการณ์  บริษัทคาดว่ายอดขาย 4Q65 เติบโต 3% QoQ และ 24% YoY เป็น 1,506 ล้านบาท จากทั้งยอดขายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการบริโภคฟื้นตัว  การเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ฟุตบอลโลก การขยายช่องทางขายในต่างประเทศ และสินค้าใหม่ได้รับการตอบรับดีโดยเฉพาะ Jele Beautie ซึ่งช่วยหนุนทั้งยอดขายและอัตรากำไร เนื่องจากสินค้ามีขนาดเล็กลงแต่ราคาขายเท่าเดิม 

นอกจากนั้น ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะผลักดันอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่ม 94 bps QoQ และ 10 bps YoY เป็น 28.2% แม้ค่าโฆษณาสูงขึ้นแต่คาดว่ากำไร 4Q65 เพิ่มขึ้น 8% QoQ และ 27% YoY เป็น 154 ล้านบาท กำไรปกติปี2565 เพิ่มขึ้น 68% YoY เป็น 517 ล้านบาท  ยอดขายปี2566 เติบโตดทั้งในประเทศและต่างประเทศยอดขายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14% เป็น 4,606 ล้านบาท ในปี2566 มีปัจจัยผลักดันจากการบริโภคเพิ่มขึ้น การออกสินค้าใหม่และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ยอดขายในต่างประเทศคาดว่าเติบโต 23% เป็น 1,694 ล้านบาท เนื่องจากการบริโภคฟื้นตัวและการเปิดโรงงานที่เวียดนาม อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าเพิ่มขึ้น 30 bps เป็น 27.6% จากการมีสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 27% จาก 25% ในปี2565  อีกทั้งประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นจากการผลิตในปริมาณมากและปัญหาแรงงานคลี่คลายโรงงานในเวียดนามหนุนยอดขายและอัตรากำไรโรงงานในเวียดนามเฟส 1 (โลตัส ขาไก่) เริ่มผลิตใน 4Q65 ต่อด้วยเฟส 2 (เบนโตะ) ในเดือน เม.ย. และเฟส 3 (เจเล่) 

ใน 2H66 คาดว่ายอดขายในเวียดนามเพิ่มขึ้น 30% เป็น 734 ล้านบาท (12% ของยอดขายรวม) ในปี2566 และเติบโต 40% เป็น 1,027 ล้านบาท (14% ของยอดขายรวม)  ในปี2567 ขณะที่การผลิตในโรงงานเวียดนามมีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่า และ Production yield สูงกว่าจากการใช้เครื่องจักรใหม่และใช้แรงงานน้อยลง จะส่งผลทำให้อัตรากำไรสูงขึ้น