Talk of The Town

เปิดกลยุทธ์ลงทุนรับมือ ไฟขัดแย้ง “ไทย-กัมพูชา” เสี่ยงทำเศรษฐกิจเสียหาย 2.8 แสนลบ.


25 กรกฎาคม 2568

ความขัดแย้งระหว่างไทย กัมพูชา ร้อนแรงต่อเนื่อง แม้ฝ่ายไทยได้พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้เกิดการปะทะตลอดหน้าแนว ทั้งอาวุธปืนเล็ก อาวุธหนัก บริเวณปราสาท และกัมพูชามีการใช้อาวุธปืนยิงแตกอากาศ เข้ามาฝั่งไทย จนถึงขั้นมีพลเรือนไทยเสียชีวิต

เปิดกลยุทธ์ลงทุนรับมือ_S2T (เว็บ)_0.jpg

แน่นนอนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นประเด็นความมั่นคงของแต่ละฝ่าย แต่หากเข้าไปสำรวจในอีกมิติของ “เศรษฐกิจ” นักลงทุนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ความขัดแย้งระหว่างไทย กัมพูชา ที่เกิดขึ้นนี้ มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไรบ้าง Share2Trade หาคำตอบมาให้แล้ว

หากไร่เรียงมุมมองของนักวิเคราะห์ชั้นนำของไทย เริ่มกันที่ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชาข้างต้น ท่ามกลางความกังวลว่าอาจนำไปสู่กรณีที่เลวร้ายที่สุดทางเศรษฐกิจอย่างการปิดกั้นชายแดนอย่างถาวร และคว่ำบาตรทางการค้าระหว่างกัน

โดยมองว่าผลกระทบต่อ SET Index ที่มีแนวโน้มเด่นชัดที่สุด คือ ผลกระทบทางลงต่อหุ้นที่มีการค้าสินค้า/บริการไปยังกัมพูชา รวมถึงหุ้นที่มีการดำเนินธุรกิจในกัมพูชา

ในแง่ความเชื่อมโยงระหว่างกัมพูชากับเศรษฐกิจไทย โดยหลักแล้วพบว่าจะอยู่ที่ด้านการค้าสินค้า/บริการ (การท่องเที่ยว) และแรงงานเป็นหลัก เนื่องจากไทยและกัมพูชามีชายแดนที่ติดกัน จึงมีความเชื่อมโยงในมิติข้างต้น โดยสามารถลงรายละเอียดในมิติต่างๆได้ดังต่อไปนี้

1.การท่องเที่ยว โดยจากข้อมูลในปี 2567 พบว่าไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกัมพูชา 2.3 แสนคน คิดเป็น 1.6%ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกัมพูชา เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลในปี 2566 พบว่าว่าอยู่ที่ 122 ดอลลาร์/คน/วัน หรือ 4,233 บาท/คน/วัน ซึ่งถือว่าต่ำค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 131 ดอลลาร์/คน/วัน หรือ 4,549 บาท/คน/วัน

2.การค้าสินค้า จากข้อมูลในปี 2567 พบว่าไทยมีการค้าทวิภาคีกับกัมพูชา 10,450 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.7%ของมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด เมื่อจำแนกพบว่าเป็นการส่งออก 9,239 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.1%ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด และการนำเข้า 1,211 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.4%ของมูลค่าการนาเข้าไทยทั้งหมด

จากตัวเลขข้างต้นจะพบว่า โดยหลักแล้วจะเป็นการส่งออกสินค้าจากไทยไปกัมพูชา โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกไป ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (33.2%ของการส่งออกไปกัมพูชา)น้ำมันสำเร็จรูป (15.7%ของการส่งออกไปกัมพูชา)น้ำตาลทราย (5.1%ของการส่งออกไปกัมพูชา) และเครื่องดื่ม (4.6%ของการส่งออกไปกัมพูชา)

3.แรงงาน จากข้อมูลกระทรวงแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า มีจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร 4,080,613 คน (รวมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จากแรงงานตามมติครม.วันที่ 24 กันยายน 2567 และมติครม.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)

โดยในที่นี้ พบว่าเป็นแรงงานกัมพูชา 511,442 คน หรือคิดเป็น 12.5%ของทั้งหมด และเมื่อจำแนกแรงงานกัมพูชาตามประเภทกิจการ (ไม่รวมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จากแรงงานตามมติครม.วันที่ 24 กันยายน 2567 และมติครม.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)  พบว่า โดยหลักแล้วจากอยู่ในกิจการก่อสร้าง 160,170 คน กิจการเกษตรและปศุสัตว์ (รวมกิจการต่อเนื่องการเกษตรและปศุสัตว์) 112,720 คน กิจการผลิตหรือจาหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม26,838คน และกิจการค้าส่ง ค้าปลีก แผงลอยในตลาดฯ 26,816 คน

กระทบเศรษฐกิจไทย 2.8 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากมีการปิดกั้นชายแดนอย่างถาวร และคว่ำบาตรการค้าระหว่างกันทางฝ่าย มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเด่นชัดที่สุด คือ การค้าสินค้าโดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในทางตรงได้ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลในปี 2567) หรือคิดเป็น 1.5%ของ Nominal GDP

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวอาจมิได้มีนัยสำคัญนัก เนื่องจาก นักท่องเที่ยวกัมพูชาคิดเป็นเพียง 1.6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมในปี 2567 ประกอบกับการท่องเที่ยวมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนักเมื่อเปรียบการส่งออกสินค้า สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทยโดยรวมที่คิดเป็น 56.4%ของ Nominal GDPในปี 2567 ส่วนการส่งออกบริการของไทยโดยรวมคิดเป็นเพียง 13.7%

นอกจากนี้ ในด้านตลาดแรงงานทางฝ่ายมองต่อให้เห็นในกรณีเลวร้ายที่สุด ยังเป็นไปได้ยากที่แรงงานกัมพูชาทั้งหมดจะออกจากตลาดแรงงานไทย เนื่องจากตลาดแรงงานกัมพูชา อาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับได้อย่างเพียงพอ สอดรับกับการที่กัมพูชาระบุว่า กัมพูชามีตำแหน่งงานว่างนับหมื่น แต่แรงงานกัมพูชาในไทยมีถึงครึ่งล้านตำแหน่ง และหากอิงจากภาพการพัฒนาของเศรษฐกิจแล้ว การทำงานในไทยมีแนวโน้มได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าการทำงานในกัมพูชา

เปิดรายชื่อหุ้นมีสัดส่วนรายได้จากกัมพูชา

ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) มองสถานการณ์ตึงเครียดไทย-กัมพูชา อาจเป็น Sentiment ลบอ่อนๆต่อ SET index และหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากกัมพูชาบ้าง โดยได้รวบรวมหุ้นที่มีธุรกิจในกัมพูชาหรือมีการขายสินค้าและให้บริการกัมพูชา เรียงลำดับจากมากไปน้อย

ดังนี้ 1.SAV 100%, 2.CBG 13%, 3.AEONTS 8% 4. BH 5% 5.CPF BTG 3-4% 6. BDMS 3% 7.SCC 3% 8.NEO ICHI 2-3% 9. OR 2-3% 10. GLOBAL 2% 11.BCH 1.7%

  1. SCGD 1.5% 13. HANA 1.4% 14. CPALL CPAXT BJC น้อยกว่า1% 15. MINT CENTEL ERW น้อยกว่า1% และ 16. BBL KBANK SCB น้อยกว่า 1%

เปิดความเสี่ยงหุ้นรายกลุ่ม

ขณะที่ความเห็นนักวิเคราะห์จากบริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด มองว่า คาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทไทยที่มีความเสี่ยงด้านรายได้ในกัมพูชา

1.กลุ่มค้าปลีก - ความเสี่ยงทางการเงินมีจำกัด จำเป็นต้องหาแหล่งสินค้าใหม่

ผู้ค้าปลีกไทยมีความเสี่ยงในกัมพูชาจำกัด โดย CPALL, CPAXT, BJC และ GLOBAL ต่างมีร้านค้าจำนวนน้อย คิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 1% ถึง 1.7% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด แม้ว่าผลกระทบทางการเงินโดยตรงจะน้อยมาก แต่ความตึงเครียดที่ยังคงดำเนินอยู่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงความจำเป็นที่ แต่ละบริษัทต้องปรับตัวโดยการจัดหาสินค้าภายในประเทศ หรือลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของไทย

2.อาหารและเครื่องดื่ม - ความเสี่ยงจากการส่งออกสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและต้นทุนโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น

บริษัทอาหารและเครื่องดื่มมีความเสี่ยงต่อกัมพูชาในระดับที่แตกต่างกัน โดย CBG ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีรายได้ 15% มาจากกัมพูชา และมีแผนที่จะขยายการผลิตในประเทศ ปัญหาการหยุดชะงักบริเวณชายแดนในปัจจุบันทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงขึ้น และการสูญเสียรายได้ทั้งหมดอาจทำให้กำไรสุทธิลดลง 26% SNNP ซึ่งมีรายได้ 6% และผลิตในประเทศ อาจมีกำไรลดลง 6.4% ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด CPF ซึ่งมีรายได้ 5% จากอาหารสดที่ไม่มีตราสินค้า ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ส่วน OSP มีรายได้จากกัมพูชาเพียง 1-2%

3.สื่อ - รายได้ต่ำ ความเสี่ยงจากการหยุดชะงักต่ำ

บริษัทสื่อต่างๆ มีรายได้จากตลาดกัมพูชาเพียงเล็กน้อย MAJOR มีรายได้ประมาณ 5% จากตลาด โดยดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ 6 แห่ง (33 โรง) ร่วมกับ AEON Mall คิดเป็นเพียง 8% ของตลาดโรงภาพยนตร์ในกัมพูชา ONEE มีรายได้เพียง 1% จากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในกัมพูชา ดังนั้น ผลกระทบทางการเงินจากความตึงเครียดที่กำลังดำเนินอยู่จึงคาดว่าจะมีจำกัด

4.อิเล็กทรอนิกส์ - HANA มีความเสี่ยงต่ำ แต่ SVI มีความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์

การดำเนินงานของ HANA ในกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของยอดขายรวม และถือว่าขาดทุน โดยโรงงานที่เกาะกงกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างก่อนการขยายกิจการตามแผนในปี 2568 ในทางตรงกันข้าม SVI เผชิญกับความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยโรงงานในกัมพูชามียอดขาย 10% ของยอดขายรวม และมีพื้นที่ให้บริการถึง 25%

5.Healthcare - ความเสี่ยงด้าน downside ต่อการเติบโตของรายได้ผู้ป่วยต่างชาติ

ความตึงเครียดบริเวณชายแดนก่อให้เกิดความเสี่ยงด้าน downside ต่อรายได้ของโรงพยาบาลจากผู้ป่วยชาวกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานพยาบาลใกล้ชายแดน ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยในตะวันออกกลาง ผู้ป่วยชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น การหยุดชะงักของสถานทูตน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงในวงจำกัด BH มีความเสี่ยงสูงสุดที่ 4% ของรายได้ รองลงมาคือ BDMS (3%) และ BCH (2%) ซึ่งพึ่งพาผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ตามชายแดนมากกว่า PR9 (1.3%) และ CHG (1%) มีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยรวมแล้ว BH, BDMS และ BCH อาจได้รับผลกระทบที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่ PR9 และ CHG ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

6.สายการบิน - ความเสี่ยงด้านปัจจัยการขนส่ง

สายการบินต่างๆ มีความเสี่ยงในระดับปานกลางต่อกัมพูชา โดย AAV และ BA ให้บริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ในกัมพูชาวันละสามเที่ยวบิน คิดเป็นประมาณ 1.7% และ 4.6% ของเที่ยวบินทั้งหมดต่อปีตามลำดับ แม้ว่าผลกระทบทางการเงินในปัจจุบันจะยังจำกัด แต่หากความตึงเครียดยืดเยื้อ อาจทำให้ load factor ลดลง ส่งผลต่อความคุ้มค่าของเส้นทางบิน และอาจต้องมีการปรับลดจำนวนเที่ยวบินหรือความถี่ในการให้บริการ