ช่วงที่ผ่านมา SCG ประกาศข่าวการนำ “ก๊าซอีเทน” มาใช้เป็นอีกวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกที่โรงงาน LSP หรือลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ของ SCGC ในประเทศเวียดนาม ซึ่งผลิตและจำหน่ายพอลิเมอร์คุณภาพสูงป้อนตลาดในเวียดนามที่กำลังมีทิศทางเติบโตและส่งออกไปยังต่างประเทศ ว่าโครงการนี้คืบหน้ามาก
แต่ด้วยการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพื่อหวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ธุรกิจในสถานการณ์ที่ตลาดปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาต่ำ ราคาวัตถุดิบผันผวน และมีปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั่วโลกเช่นนี้
หลายคนคงตั้งคำถามว่า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มจุดแข็งให้ธุรกิจเคมิคอลส์ของ SCG ได้แค่ไหน และจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่… “Share2Trade” จะพาไปหาคำตอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขณะนี้เป็นช่วงวัฏจักรขาต่ำ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วโลกทยอยปิดตัวไปหลายแห่ง เพราะเผชิญแรงกดดันทั้งจากปริมาณซัพพลายในตลาดโลกที่ล้นเกินไป ประกอบกับความต้องการเคมีภัณฑ์โลกชะลอตัว ส่งผลให้ Spread หรือส่วนต่างราคา HDPE กับแนฟทาปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นจุดที่ผู้ประกอบการเคมีภัณฑ์ไม่สามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตต่อได้
เมื่อช่วงปลายปี 2567 SCG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ SCGC เอง ก็ต้องตัดสินใจหยุดเดินเครื่องโรงงาน LSP ชั่วคราว หลังธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
แต่ไม่นานนัก SCG ก็เร่งแก้เกมด้วยการประกาศลงทุนโครงการ “เพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนในโรงงาน LSP” หวังลดต้นทุนการผลิตเมื่อกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง พร้อมรับกับตลาดปิโตรเคมีในภูมิภาคช่วงฟื้นตัว เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงปี 2570
“Share2Trade” จึงอยากชวนวิเคราะห์จุดเด่นของโครงการลงทุนเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนที่โรงงาน LSP ของ SCGC ดังนี้
หนึ่ง คือ “การดำเนินงานที่รวดเร็ว” สามารถ 1.) จัดหาและล็อกวัตถุดิบก๊าซอีเทน จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปริมาณมาก คุณภาพดี ราคาเหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นรายแรกในอาเซียน ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ระยะเวลา 15 ปี 2.) เซ็นสัญญาเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ ไปยังเวียดนาม กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 3 ลำ ระยะเวลา 15 ปี (อีก 2 ลำอยู่ระหว่างดำเนินการ) และ 3.) เซ็นสัญญาออกแบบ จัดหา และก่อสร้างถังเก็บก๊าซอีเทน ซึ่งมีลักษณะพิเศษและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการแล้ว
ขณะที่โรงงาน LSP ก็เร่งเตรียมปรับปรุงกระบวนการผลิตและสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบไปพร้อมกัน เพื่อให้โครงการทั้งหมดแล้วเสร็จในปี 2570 รับตลาดปิโตรเคมีที่คาด Spread จะกลับสู่ระดับที่เหมาะสมด้วย
สอง คือ “การบริหารจัดการให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้กว่า 30%” เมื่อเทียบกับราคาแนฟทาในปัจจุบัน เพราะการใช้อีเทนจะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 250 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ระยะเวลาการคืนทุนของโครงการนี้อยู่ที่เพียง 2 - 3 ปี แม้ไม่ใช่ผลตอบแทนที่จะกลับมาในเวลาอันใกล้นี้ แต่สำหรับโอกาสระยะกลางถึงยาว ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากอนาคตราคาก๊าซโพรเพนหรือแนฟทาลงมาต่ำกว่าอีเทน โรงงาน LSP ก็สามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่ราคาเหมาะสมกว่าได้ เพราะถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบอยู่แล้ว
สาม คือ “การใช้แหล่งเงินทุนภายใน SCG” เพื่อไม่สร้างหนี้เพิ่ม สอดคล้องกับกลยุทธ์การรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ ตามที่ล่าสุดประกาศออกมาว่าปี 2567 มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA) ถึง 53,946 ล้านบาท
เรื่องนี้ นักวิเคราะห์หลายสถาบันมีมุมมองเชิงบวก อย่าง “บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด” ที่มองว่า บริษัทฯ จัดการโครงการนี้ได้เร็วและพร้อมยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ จึงเชื่อว่าจะผ่านช่วงขาต่ำของอุตสาหกรรมไปได้
แม้การลงทุนดูเหมือนจะสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) แต่การที่โครงการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในอนาคตได้มาก ทำให้ใช้ระยะเวลาคืนทุน 2 - 3 ปี ประกอบกับผลกำไรที่จะได้เพิ่มขึ้นนั้น นับว่าเป็นการลงทนที่คุ้มค่า และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต ทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ของ SCG มีความแข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค
ขณะที่ราคาก๊าซอีเทนในระยะยาว ยังแข่งขันได้และมีเสถียรภาพ เพราะเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตก๊าซธรรมชาติและมีปริมาณมากกว่าความต้องการ
จากทัศนะเบื้องต้นของนักวิเคราะห์และ “Share2Trade” ข้างต้น น่าจะทำให้นักลงทุนเห็นว่า SCG ก็มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นธุรกิจเคมิคอลส์กลับมาเติบโตในช่วงที่ตลาดปิโตรเคมีในภูมิภาคฟื้นตัวได้เช่นกัน แต่จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป