Smart Investment

สแกน 3 หุ้น "สุกี้-ชาบู"หม้อร้อน ยิ้มรับบริโภคฟื้น ยอดขายพุ่ง


10 มีนาคม 2566
Mr.Data 

สัปดาห์นี้ Mr.Data ชวนมาสแกนหุ้นอาหารหม้อร้อน "สุกี้-ชาบู" ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไล่เรียงตั้งแต่ "สุกี้ ตี๋น้อย" ซึ่งอยู่ภายใต้อาณาจักร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) หลังกลุ่ม JMART ประกาศบิ๊กดีลในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทุ่มเงินลงทุนราว 1.2 พันล้านบาท เข้าถือหุ้นใน บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ซึ่งประกอบธุรกิจภายใต้แบรนด์ “สุกี้ ตี๋น้อย” ในสัดส่วน 30%  
แก้รอบสอง100366.jpg
ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งสำคัญของเจ้าพ่อธุรกิจค้าปลีกและค่าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร รองรับความต้องการบริโภคที่ฟื้นตัว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 

สำหรับแผนการดำเนินงานของ “สุกี้ ตี๋น้อย” ภายใต้อาณาจักร JMART ในปี 2566 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 50 สาขา จากปัจจุบัน 42 สาขา และวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อขยายธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่และขยายสาขาในต่างประเทศ

ทั้งนี้   “สุกี้ ตี๋น้อย” ก่อตั้งเมื่อปี 2562 แบรนด์ติดตลาดได้อย่างรวดเร็ว จากจุดแข็งในเรื่องของคุณภาพเหมาะสมกับราคา โปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า และมีหลายสาขา 

ในปี 2564 “สุกี้ ตี๋น้อย” สามารถสร้ายอดขายได้กว่า 1,572 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 148 ล้านบาท ก่อนที่กลุ่ม JMART จะทุ่มเงินลงทุนกว่า 1.2 พันล้านบาท เข้าถือหุ้น 30% และมีแผน Spin Off เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2568  

ขาใหญ่รายที่ 2 ร้านอาหาหม้อร้อน "เอ็ม เค สุกี้" บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M) ประกอบธุรกิจร้านอาหาร "เอ็ม เค สุกี้" ร้านอาหารญี่ปุ่น "ยาโยอิ" ซึ่งได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นๆ อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ "ฮากาตะ" และ "มิยาซากิ" ร้านอาหารไทย "ณ สยาม" และ "เลอสยาม" ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ "เลอ เพอทิท"

ผลการดำเนินงานของ M ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น เห็นได้จากรายได้รวมในปี 2565 เพิ่มเป็น 15,938.18 ล้านบาท เทียบปี 2563 อยู่ที่ 13,655.26 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ที่ 11,368.01 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และการปิดเมือง 

และในปี 2565 มีกำไรสุทธิ 1,438.81 ล้านบาท  เทียบปี 2563 อยู่ที่ 907.37 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ที่ 130.98 ล้านบาท 

บริษัท วาว แฟคเตอร์ จำกัด (มหาชน) (W) เจ้าของร้านอาหารชาบูญี่ปุ่น พรีเมี่ยม Kagonaya ที่รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2565 บริษัทฯมีรายได้รวม 344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เทียบปี 2564 อยู่ที่ 254 ล้านบาท 

โดยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า บริษัทฯ เตรียมขยายสาขา ร้านอาหารชาบูญี่ปุ่น พรีเมี่ยม Kagonaya เพิ่มจาก 18 สาขา เป็น 30 สาขา เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภค ที่ชื่นชอบชาบูสไตล์ญี่ปุ่นรสชาติแบบเมืองโอซาก้า ที่มีจุดเด่นในเรื่องของน้ำซุป น้ำจิ้ม ที่ไม่เหมือนใคร และเมนูอาหารต่างๆ ที่มาแบบจัดหนัก จัดเต็ม ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ยอดขายในปีเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามการขยายสาขา

ปัจจุบัน W มีธุรกิจ food and beverage ที่ดำเนินกิจการอยู่ คือ 1.) ธุรกิจของบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ BCT ประกอบธุรกิจร้านขนมนำเข้าจากญี่ปุ่นแบรนด์ Bake (เบค), Zaku Zaku (ซากุ ซากุ) และ Rapl (แรปเปิ้ล) 2.) ธุรกิจของบริษัท เครปส์ แอนด์ โค. ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด หรือ CND ประกอบธุรกิจร้านอาหารสเต๊กสไตล์ฝรั่งเศส Le Boeuf (เลอ เบิฟ) และ 3.) ธุรกิจของบริษัท อีสเทิร์น ควีซีน (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจร้านอาหารชาบู Kagonoya (คาโกะโนยะ) ร้านอาหารชาบูระดับพรีเมี่ยม มีต้นกำเนิดมาจากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

สัญญาณการฟื้นตัวของรายได้ของ 3 หุ้น “ชาบู-สุกี้” หม้อร้อน ที่เตรียมกลับมาผงาด! รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังทั่วโลกกลับมาเปิดเมือง ทำให้การท่องเที่ยว และการบริโภคกลับมาคึกคักอีกครั้ง....อีกไม่นานเกินรอ เราคงได้เห็นราคาหุ้นฟื้นตัวตาม!