Talk of The Town

นายกฯ เศรษฐาบีบกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบ!


09 เมษายน 2567

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ทุกฝ่ายยังคงเฝ้าจับตาว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่????

เปิดเหตุผลกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย copy.jpg

หลังจากในช่วงที่ผ่านมาถูกกดดันจากรัฐบาล และผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องการเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ธปท.ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง "อย่างน้อย 0.25%" ในสัปดาห์นี้ เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งยังคงเป็นลบ ความคาดหวังของผมอาจจะไม่ใช่แค่ 0.25% แต่อาจเป็น 0.5% เพราะมันอั้นมานานแล้ว ที่จริงควรจะลดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วด้วยซ้ำ" นายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อไปในการประชุมวันพุธที่ 10 มี.ค. นี้

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่า  การลดดอกเบี้ยแบบ Surprise Cut ของกนง.ไม่เป็นผลดีต่อ Set Index

“เราคิดว่า กนง.มีเหตุผลมากมากที่จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายในการประชุมวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางด้านเงินเฟ้อที่เตรียมกลับมาสูงขึ้น หลังหมดมาตรการตรึงราคาพลังงาน ความเสี่ยง Upside Risk ของเงินเฟ้อในช่วงถัดไปที่อาจประทุขึ้น หลังราคาโภคภัณฑ์ทยอยปรับตัวสูงขึ้น” 

รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือดอกเบี้ย โดยตรงหาก กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ย จะถือเป็นการตัดสินใจที่ Surprise กลุ่มคนส่วนใหญ่ สะท้อนผ่านการ Price in ของตลาด Swap ณ วันนี้ที่ให้ความน่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยอยู่ที่ 44%

จากการศึกษาในอดีตพบว่า การลดดอกเบี้ยแบบ Surprise Cut ของไทย นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมานั้น มักนำไปสู่ความอ่อนแอของ Set Index ,Fund Flow และค่าเงินบาท 

ดัชนี SET นั้น มักปรับลงเฉลี่ยราว 13% ใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นนักลงทุนต่างชาติมักขายสุทธิออกมา โดยเฉลี่ย 5.6 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าโดยเฉลี่ยราว 0.7% 

เงินบาทที่มักปรับตัวอ่อนค่าในทางสถิติ เมื่อมาประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย-สหรัฐ ที่ต่างมากขึ้นไปอีก เพราะว่า Fed จะลดดอกเบี้ยก็คงจะเกิดขึ้น ในเดือนมิ.ย. เป็นอย่างเร็ว ทำให้เรามั่นใจว่าหาก กนง. มีการลดดอกเบี้ยจริงคราวนี้  เงินบาทมีโอกาสที่จะไหลอ่อนค่าไปแถาวระดับ 36.8-36.9 บาท/ดอลลาร์ ได้ไม่ยาก