Smart Investment

3 เซียนสั่งลุย หุ้นกลุ่มแบงก์-ประกัน รับกนง.ขึ้นดอกเบี้ย


29 กันยายน 2566
Mr.Data

หุ้นกลุ่มแบงก์และประกันกลับมาเป็นความหวังของหมู่บ้าน หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศขั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% % มาที่ 2.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย เข้าสู่จุดเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

เซียนสั่งลุย! หุ้นกลุ่มแบงก์-ประกัน.jpg

Mr.Data สัปดาห์นี้ พามาพบกับมุมมองของ 3 โบรกเกอร์จากค่าย บล.เอเซีย พลัส บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.กรุงศรี พัฒนสิน เขามีมุมมองอย่างไรกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ในครั้งนี้ 

แล้วหุ้นกลุ่มไหนได้ประโยชน์????

***”เอเชียพลัส”ชู BBL-KTB

เริ่มจาก บล.เอเซีย พลัส มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในครั้งนี้ เป็นบวกทันทีต่อเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank) ดีต่อ BBL, KTB ขณะที่ฝั่งดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อยังต้องจับตามองการตอบสนองจากกลุ่มฯ หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบก่อนหน้า ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดขึ้น M-RATE 

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเพิ่ม M-RATE มองว่า MLR ที่คิดกับลูกค้ารายใหญ่ น่าจะถูกปรับขึ้นในอัตราสูงกว่า MRR ที่คิดกับ SME และรายย่อย ซึ่งศักยภาพในการชำระหนี้ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยรวมบวกต่อ BBL ที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่มากสุดในกลุ่มฯ

โดยการลงทุนสำหรับกลุ่มธนาคาร เลือก BBL จากคุณภาพสินทรัพย์แกร่งกว่ากลุ่มฯ และคาดรับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่ากลุ่มฯ 

ส่วน ธนาคารพาณิชยฺขนาดเล็ก แม้เสียเปรียบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ยามดอกเบี้ยขาขึ้น แต่มีจุดเด่นจาก DIV YIELD สูง ยังชอบ TISCO ที่ให้ DIV YIELD สูงสุดในกลุ่มฯ มากกว่า KKP 

ส่วนกลุ่ม Non– Bank (เฉพาะ MTC, SAWAD, TIDLOR) กรณีที่ธนาคารมีการปรับขึ้น M-Rate และ Bond Yield ยืนในระดับสูง ในทางพื้นฐานส่งผลให้แนวโน้มต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund : COF) ของกลุ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งโครงสร้างหนี้สินที่มีดอกเบี้ยอายุ 1 ปี ณ สิ้นงวด 2Q66 เฉลี่ยอยู่ที่ 38% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ย (หนี้กับสถาบันการเงินประมาณ 21% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ย) 

โดยช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยช่วงครึ่งหลังปี 2565 พบว่า COF กลุ่มฯ งวดไตรมาส 2/66 อยู่ที่ประมาณ 3.3% VS 3.0% งวด ไตรมาส 2/65 ตรงข้ามกับฝั่งดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อคงที่ (กรณีมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นจะส่งผลเฉพาะสัญญาฉบับใหม่) ด้านคุณภาพสินทรัพย์กลุ่มฯมองว่ายังอยู่ในวัฎจักรขาขึ้นของ NPL 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นกลุ่มจำนำทะเบียน ตั้งแต่ Bond yield ไทยปรับตัวขึ้นช่วง ก.ย. 2566 ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มฯ มีการปรับฐานพอสมควร และนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ให้ผลตอบแทนติดลบทุกตัว น่าจะสะท้อนปัจจัยข้างต้นบางส่วนแล้ว 

***TIDLOR-MTC-SAWAD น่าช้อน

ให้คำแนะนำ Outperform ต่อ TIDLOR (FV ปี 2566 @B26) เพราะราคาหุ้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดลง 20.3% มากกว่า MTC และ SAWAD ลบ 3.3% และ 10.8% YTD ตามลำดับประกอบกับคุณภาพสินทรัพย์ของ TIDLOR ในเชิง Coverage ratio สูงสุดในกลุ่มฯ ที่ 266% 

ขณะที่ MTC (Neutral) ราคาหุ้นที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาเทียบ FV ปี 2567 ที่ 40 บาท (FV ปี 2565 @B35) มี Upside เปิดกว้างขึ้น 

***BBL- KTB-JMT หุ้น top pick

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ระยะสั้นจะเป็น sentiment บวก ต่อกลุ่มธนาคาร แต่ลบต่อกลุ่ม finance และเชื่อว่ารอบนี้น่าจะเห็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเร็วๆ นี้ หากเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อเนื่องต่อ NIM ในไตรมาส 4 ปี 2566 และต่อเนื่องไปยังปี 2567 ซึ่งจะได้ผลบวกเต็มที่ทั้งปี 

จากการศึกษาพบว่าทุก 0.25% ที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกต่อ NIM 9bps และกำไรสุทธิปี 2567 +6% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ +8% y-y Top picks ยังชอบ BBL และ KTB ส่วนกลุ่มfinance เลือก JMT เป็นหุ้น top pick

ทั้งนี้ แนะนำ "ซื้อ" BBLราคาเป้าหมาย 197 บาท คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ 10.8 พันลบ. -4% q-9 ส่วนมากมาจากกำไรที่มาจากการตีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนที่ลดลง แต่ยัง +41% y-y จากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น 

ด้าน NPLs และ Credit costไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลใน 3 ปี 2566 ทำให้ คงมุมมองเชิงบวกต่อแนว โน้มการเติบ โตของธุรกิจในระยะยาวจากการดำเนินงานทั้งในและต่างประเทศ คาดกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 3.8 หมื่นลบ. +29% y-y และปี 2567 ที่ 4.1 หมื่นลบ. +8% y-y Valuation ยังน่าสนใจโดยเทรด 2567PBV เพียง 0.5 เท่า แนวรับ 162-160 บาท แนวต้าน 166-167/ 172-175 บาท

ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ได้แก่ พลังงานต้นน้ำ-กลางน้ำ การแพทย์ สื่อสารฯ จากแนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปี 2566 ที่แข็งแรง

ขณะที่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ระยะถัดไปจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมาในไตรมาส 4 ปี 2566 - 2567 ทั้งการช่วยเหลือค่าครองชีพพักหนี้กษตรกรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

กลยุทธ์เลือกหุ้นที่มีโมเมนตัมกำไรไตรมาส 3 ปี 2566แข็งแกร่ง/ /ถือลงทุนต่อเนื่องหลังและพิจารณาสะสมเพิ่มหากดัชนีปรับลงหา Low เดิม 1,460+- จุด

***”กรุงศรี”แนะสอยกลุ่มแบงก์-ประกัน

บล.กรุงศรี พัฒนสิน มองกลยุทธ์ระยะสั้นเลือกเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับเพิ่มดอกเบี้ย อาทิ ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ได้แก่ BBL, KBANK, SCB กลุ่มประกัน TLI,BLA

ภาพใหญ่แม้ตลาดหุ้นไทยยังไม่นิ่งจากผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนค่า และฟันด์โฟลว์ที่ยังย้ายออกจากผลกระทบบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น และส่วนหนึ่งแรงขายทำกำไรเด้งที่สองจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท เชื่อว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ และกลุ่มประกัน ที่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงเป็นหลุมหลบภัยที่ดีในเวลานี้!!! ขอให้ทุกคนโชคดี มีความสุขกับการลงทุน