Wealth Sharing

ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดหั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.3% คาดผลประชุมกนง. 27 ก.ย. คงดอกเบี้ยที่ 2.25%


18 กันยายน 2566
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.3% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ฉุดส่งออกติดลบ 5% ส่วนครึ่งปีหลังคาดขยายตัว 4.3% ส่วนผลประชุมกนง. 27 ก.ย. เชื่อคงดอกเบี้ยที่ 2.25% หลังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดหั่นจีดีพีไทยปีนี้เ.jpg

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลงจาก 4.2%  มาอยู่ที่ 3.3% ผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้การส่งออกติดลบ 5%  และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 4.2% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.5%   และปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ลงมาอยู่ที่  1.3%  จากเดิมที่คาดไว้ 1.7% โดยคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.3% ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 อยู่ที่ 1.4%  

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง  นอกจากนี้ธนาคารยังได้ได้ปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจาก  3.6% มาอยู่ที่ 1.5% ของจีดีพี  การขาดดุลปีงบประมาณคาดว่าจะอยู่ที่ 4.0% ต่อจีดีพี ในปี 2567 จาก  3.8% ต่อจีดีพี ในปี 2566

“ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 ธนาคารคาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.3% เนื่องจากภาพรวมด้านการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2568 โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปร”

ดร.ทิม คาดการณ์ด้วยว่า ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน  หลังจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน โดยเฉลี่ยมีการเดินทางเข้ามาเดือนละ 2.2 ล้านคน เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว  ส่วนนโยบายฟรีวีซ่า ของรัฐบาลเชื่อว่าจะได้ผลก็ต่อเมื่อรัฐบาล เพื่อCapacity ของสายการบินให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินในการเดินทางเพียง 50% เมื่อเทียบกับช่วงที่จะเกิดการระบาดของโควิด 

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารเชื่อว่า  แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ปรับลดลง ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่  27 ก.ย. นี้ จะมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า  ส่วนค่าเงินบาทแม้ว่าปัจจุบันจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่น่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี ราว 34 บาท/ดอลลาร์ จากการท่องเที่ยวไทยที่กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น