จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : EA รับอานิสงส์ไทยฐานผลิตรถ EV ปี 69 ยอดจดทะเบียนรถ EV แตะ 2.92 แสน


02 มิถุนายน 2566
ttb analytics คาดปี 69 ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV สะสมในประเทศไทย จะสูงถึง 2.92 แสนคัน และจำนวนที่ชาร์จสะสมแตะ 1 หมื่นหัวจ่าย สนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจ บริษัทฯพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA    

รายงานพิเศษ EA.jpg
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics  ระบุท่ามกลางเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่กำลังมาแรงและเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้ไทยซึ่งมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมหวังจะปรับเปลี่ยนไปสู่ฐานผลิตรถ EV ที่แข็งแกร่งของภูมิภาค  โดยตั้งเป้าผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศหรือประมาณ 7.5 แสนคันในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า 
ซึ่งจะทำให้การลงทุนในห่วงโซ่การผลิตรถ EV หลั่งไหลเข้าไทยอย่างไม่ขาดสายผ่านการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิต การยกเว้นอากรสรรพสามิต และการลดภาษีนำเข้า เป็นต้น
เห็นได้จาก ยอดนำเข้ารถยนต์นั่ง EV จากประเทศจีนที่เร่งขึ้นเกือบ 5 เท่า จาก 78.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 เป็น 456.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 สอดคล้องกับยอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่ง EV (รย.1) ในไตรมาส 1 ปี 2566 ที่สูงถึง 12,989 คัน หรือขยายตัว 95.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่ง EV เทียบกับยอดขายรถใหม่ (EV Adoption) ก็ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้วเพียง 0.05% อีกทั้งจำนวนยอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่ง EV กระจายสู่หัวเมืองใหญ่ ๆ (เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และขอนแก่น) เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 
ในระยะต่อไป ttb analytics มองว่า ยอดขายรถ EV มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 28.8% (CAGR 2566-2573) ตามการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไปสู่ฐานผลิตรถ EV อย่างรวดเร็ว ก่อนจะเข้ามากลืนยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ที่อาจหดตัวถึงปีละ 9.6% และ 6.6% โดยคาดว่า ในปี 2569 ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV สะสมจะสูงถึง 2.92 แสนคันทั่วประเทศ 
ซึ่งเมื่อตลาด EV ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว  อุตสาหกรรมพลังงานเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มชะลอตัว  ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันขายปลีกจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะการติดตั้งจุดให้บริการอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Point) ภายในปั๊มน้ำมัน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการนอกอุตสาหกรรมที่เริ่มใช้ประโยชน์จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ในการให้บริการจุดชาร์จ EV กันอย่างคึกคักผ่านเครือข่ายห้างสรรพสินค้า แฟรนไชส์ร้านค้าปลีก และโรงแรม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจทางอ้อมต่อผู้ใช้รถที่จะหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการที่ชาร์จ EV มากขึ้น สอดคล้องกับจำนวนที่ชาร์จ EV ทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 
ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า พบว่า ณ สิ้นปี 2565 จำนวนสถานีชาร์จ EV ทั่วประเทศอยู่ที่ 1,239 แห่ง โดยเป็นจุดชาร์จ EV แบบกระแสสลับ (AC) ทั้งสิ้น 2,404 หัวจ่าย แบบกระแสตรง (DC) 1,342 หัวจ่าย และมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือกระจายออกไปตามหัวเมืองใหญ่และเมืองทางผ่าน หากมองไปข้างหน้า ttb analytics ประเมินว่า จุดชาร์จรถ EV สาธารณะทั่วประเทศสะสมทั้งแบบ AC และ DC จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 29.1% ในระหว่างปี 2566-2569  ซึ่งจะทำให้จำนวนที่ชาร์จสะสมแตะ 1 หมื่นหัวจ่ายได้ในปี 2569 สอดคล้องกับเป้าระยะยาวในการติดตั้งจุดชาร์จรถ EV ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม  
การเติบโตของตลาดEV  และสถานีชาร์จไฟฟ้า  ส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทฯพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA   ที่ทำธุรกิจหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่

1.) กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล

2.) กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน- โรงไฟฟ้าพลังงานลม – โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

3.) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน- พัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ -ธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า)- ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

4.) กลุ่มธุรกิจอื่นๆ - ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ - วิจัยและพัฒนา
ซึ่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อมร ทรัพย์ทวีกุล” ระบุว่า ปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะระดับ 40,000 ล้านบาท  โดยธุรกิจ EV จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 50%  และอีก 50% จะมาจากธุรกิจแบตเตอรี่ และไบโอเจ็ท รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ
นอกจากนี้ ในปี 66 บริษัทวางงบลงทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ 6,000 ล้านบาท และเปลี่ยนแผงโซล่าประมาณ 2,000 ล้านบาท  ทำให้บริษัทคาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10-12% ส่วนงบลงทุนที่เหลือบริษัทจะลงทุนในโรงงานไบโอเจ็ท และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม
EA