จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : กลยุทธ์ “ควบรวมกิจการ” หนุน LEO โตยั่งยืน


22 มีนาคม 2566
การขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการนับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของ บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO)  ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป  และเป็นการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนให้กับบริษัท

รายงานพิเศษ กลยุทธ์ ควบรวมกิจการ 230323.jpg

บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 เป็นปีที่มีปริมาณการซื้อขายกิจการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจและผู้คนเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และคาดว่า ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการในปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

“เทรนด์ของการทำดีลซื้อขายและควบรวมกิจการของไทยในปีนี้จะคล้ายคลึงกับทั่วโลก แม้กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นสูง และกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงสร้างการเงินสำหรับการบรรลุข้อตกลงในการทำดีลบ้าง แต่สภาวการณ์ดังกล่าว กลับจะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าสู่ตลาดใหม่ และแปลงไปสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืน”

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปี 2566 กิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการในเอเชียแปซิฟิกจะแข็งแกร่งขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจมหภาค  หลังจากที่ข้อตกลงการควบรวมและซื้อกิจการในปี 2565 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี จากต้นทุนทางการเงิน ตลาดทุนที่อ่อนแอ และการควบคุมโควิด-19 ของจีน

โดยข้อตกลงการควบรวมและซื้อกิจการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากบริษัทและกองทุนต่างๆ  ยังเฝ้าระวังสภาวะเศรษฐกิจมหภาค และหวังว่าบริษัทจีนจะกลับเข้าสู่ตลาดอย่างเข้มแข็ง

ขณะที่ฝ่ายวาณิชธนกิจของ Goldman Sachs ในฮ่องกง ระบุว่า ข้อตกลงของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่วันที่ 1มกราคม -15 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์  ลดลง 41% เมื่อเทียบกับปี 2564 และคาดว่าจะต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557   ซึ่งในส่วนของข้อตกลงภาคเอกชนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการควบรวมกิจการที่สำคัญมีมูลค่า 1.39 แสนล้านดอลลาร์  ณ วันที่ 15 ธันวาคม ลดลง 52% เมื่อเทียบจากปี 2564

แนวทางการขยายธุรกิจ  โดยการควบรวมกิจการ  เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของ บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO)  ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ระบุว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 66 เดินตามยุทธศาสตร์ "365 Degree Collaboration" ตั้งเป้าเป็นปีแห่งการก้าวสู่ความเป็น Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยบริษัทยังคงเดินหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A)  กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เบลเยี่ยม สิงคโปร์ และจีน คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/66 และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3-4/66   ซึ่งการ M&A หลายๆ โครงการนี้ จะสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ใหม่ๆที่เกิดจากธุรกิจ JV ใหม่ๆและ M&A ทั้งหมดนี้ประมาณ 300-700  ล้านบาทในอีก 1-3 ปีข้างหน้า 
         
รวมทั้งบริษัทยังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น Non Logistics โดยจะทำการต่อยอดธุรกิจกัญชงและกัญชาที่ได้มีการลงนาม MOU กับทางวิสาหกิจชุนชนสุขฤทัย และบริษัท แคนบิซ จำกัด ให้สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่และสร้างรายได้ให้กับทางบริษัทฯในอนาคตอันใกล้ 
          
รวมถึงการพัฒนาธุรกิจการเป็นตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทย เพื่อส่งให้ E-commerce Platform ของ China Post และ Tengjin ภายใต้ชื่อ บริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆเข้ามาเป็นจำนวนมาก  โดยบริษัทฯเชื่อว่าธุรกิจ Non Freight และ Non Logistics ใหม่ทั้งหมดนี้ จะสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า และมีกำไรขั้นต้นในระดับสูง ซึ่งจะมาทดแทนรายได้ค่าระวางเรือที่เริ่มปรับตัวลดลงตามแนวโน้มอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
LEO