รายงานพิเศษ : SPREME รับประโยชน์ผลงานเด่น เมื่อเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงหนุน ลุ้นช่วยผลักดันรายได้โต 10-15%
แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง แต่สวนทางกับการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สะท้อนได้จากความมั่นใจของผู้บริหาร บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (SPREME) ที่ตั้งเป้ารายได้ปี 68 จะเติบโตได้ในระดับ 10-15%
นายภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (SPREME) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ในฐานะผู้ออกแบบ จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร (System Integrator) รวมถึงให้บริการดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง ระบุ
แนวโน้มไตรมาส 2/2568 ตลอดจนถึงสิ้นปี 2568 บริษัทฯ จะเดินหน้าเร่งส่งมอบงานโครงการ และรอรับรู้รายได้จากงานในมือที่ทยอยประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างตลอดช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตุนไว้แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกับเข้ายื่นประมูลโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project เพื่อเพิ่ม Backlog ให้มีมูลค่าสูงขึ้น สนับสนุนผลการดำเนินงานในปี 2568 ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
รวมถึงมีแผนที่จะทำดีล M&A ซึ่งจะทยอยเริ่มเกิดขึ้นในปีนี้ พร้อมกับตั้งเป้าการเติบโตของรายได้แบบระมัดระวังที่ระดับ 10-15% จากปีก่อน โดยมุ่งเน้นที่จะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 20-25%
การเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร เป็นไปในทิศทางเดียวกับมุมมองของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 โดยยอมรับว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว
โดยเศรษฐกิจดิจิทัล (Broad Digital GDP ณ ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) คาดว่าจะขยายตัว 6.2% สูงกว่าการขยายตัวของ GDP โดยรวม ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% (สศช. ประมาณการ) โดยเฉพาะด้านการส่งออก ที่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าดิจิทัล มีมูลค่าประมาณ 8.6 แสนล้านบาท ขยายตัว 35% สูงกว่าการส่งออกรวมของประเทศที่ขยายตัว 8.0%
“รัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานอย่างหนักในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวด้วยอุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกรูปแบบ”
ขณะที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจดิจิทัล คาดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง ในปี 2568 จะมีมูลค่า 4.69 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 6.2% เมื่อเทียบกับปี 2567 และคิดเป็นการขยายตัว 3.4 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยาย 1.8% (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัว
สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในหมวดต่าง ๆ พบว่า ทุกหมวดขยายตัวสูงกว่า GDP ของประเทศ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุด (9.9%) และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) ขยายตัวต่ำที่สุด (4.5%)