Wealth Sharing

อึ้งหนักมาก! ตลาดหุ้นไทยครึ่งปี 68 ฟอร์มแย่สุดในโลก


02 กรกฎาคม 2568

ในปี 2568 ก็ได้เดินทางมาถึงช่วงครึ่งปีหลังปี 68 ซึ่งสถานการณ์ของตลาดหุ้นทั่วโลกก็ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยหลายๆด้าน แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยคงไม่พ้นเรื่องของการเมืองในประเทศที่กดดันดัชนีจนเข้าขั้นแย่ติดอันดับต้นๆของโลกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

อึ้งหนักมาก!_WS (เว็บ).jpg

ดังนั้น ในวันนี้ทางสำนักข่าว Share2Trade จึงได้ทำการรวบรวมมุมมองจากนักวิเคราะห์ต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับสรุปความเคลื่อนไหวหรือผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีความสำคัญ มานำเสนอให้แก่นักลงทุนและผู้อ่านกันในครั้งนี้

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ให้มุมมองว่า ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปีนี้ยังเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวลง -22% vs หุ้นโลก (MSCI World Index) และหุ้นเอเชีย (MSCI Asia ex. Japan) ที่ปรับตัวขึ้น 8% และ 14% ตามลำดับ 

โดยหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรายปีติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 สวนทางหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้างและกำไรบริษัทจดทะเบียนไม่เติบโตเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีรายการพิเศษจำนวนมากกดดันกำไรโดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของปี

ขณะที่ต้นเดือน ก.ค. นี้ จะครบกำหนด 90 วันที่ทรัมป์ผ่อนปรนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ให้กับประเทศคู่ค้า  จนถึงวันนี้มีเพียงอังกฤษและอินเดียเท่านั้นที่มีความคืบหน้าการเจรจาการค้าอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ทันก่อนวันที่ 9 ก.ค. 

โดยอาจสร้างความผันผวนแก่ตลาดหวนกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปัจจุบันฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในโซนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีระดับการประเมินมูลค่าค่อนข้างตึงตัวมาก โดยคิดเป็น P/E ปีนี้ที่ 23 เท่า ถึงแม้มีความเป็นไปได้มากที่ทรัมป์จะขยายเวลาผ่อนผันออกไป (ซึ่งเป็นกรณีฐานที่ตลาดประเมินไว้) แต่ในขณะเดียวกันอาจทำให้การค้า การลงทุน และการบริโภคชะลอตัวต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของการขึ้นภาษี เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในช่วงเดือนที่ผ่านมามี 3 ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 1.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 4.25-4.50% และตาม Dot Plot ล่าสุดในเดือน มิ.ย. ส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยปีนี้ 2 ครั้งเหมือน Dot Plot เดิมในเดือน มี.ค. แต่ในปีหน้าส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยได้น้อยลงจากเดิม 2 ครั้งเหลือเพียง 1 ครั้ง 

2.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลงจากเดิมปีนี้คาดโต 1.7% เป็น 1.4% และปีหน้าจากโต 1.8% เป็น 1.6% และ 3.ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น โดย Core PCE ปรับขึ้นจากเดิมปีนี้ที่ 2.8% เป็น 3.1% และปีหน้าจากที่ 2.2% เป็น 2.4% ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีการค้าของทรัมป์ 

โดยการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นและการปรับแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตลดลงสะท้อนความเสี่ยง “Mild Stagflation” มากขึ้น  มุมมองของเราคาดว่าจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวชัดมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มส่งผ่านภาษีที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนหลังจากสหรัฐฯ เริ่มขึ้นภาษีมาตรฐาน 10% กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจุบันมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางด้วย

สุดท้ายการเมืองในประเทศยังไม่น่าไว้วางใจแม้พรรคร่วมขนาดกลาง-เล็กยังหนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยการถอนตัวของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลใหญ่เป็นอันดับ 2 ทำให้รัฐบาลปัจจุบันมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ 261 เสียงจากจำนวน ส.ส. ปัจจุบันที่มีอยู่ 495 เสียง เป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาฯ ที่จะเปิดในต้นเดือน ก.ค. นี้ ล่าสุดรัฐบาลได้เลื่อนการผลักดันร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ออกไปก่อน เพื่อช่วยลดแรงกดดันทางการเมือง 

แต่ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าการผลักดันนโยบายและการทำงานต่างๆ ของรัฐบาลจะมีความล่าช้าหรืออาจไม่ประสบความสำเร็จ  นอกจากนี้ หนทางความอยู่รอดของรัฐบาลข้างหน้ายังเต็มไปด้วยขวากหนาม ทั้งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวิจัยฉัยคุณสมบัตินายกฯ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คดีความต่างๆ และการชุมนุมทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งไตรมาส 3 นี้