ตะลึง! 3 เดือนแรกปี 68 ปิดกิจการพุ่ง 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 10.6% ธุรกิจอาหารเจ๊งมากสุด
ผ่านไปเพียง 3 เดือนของปี 2568 สภาพัฒน์ รายงานว่า มีการจดทะเบียนเลิกกิจการแล้วกว่า 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 10.6% พบสะสมตั้งแต่ปี 66-ไตรมาส 1/68 ผลิตภัณฑ์อาหารแจ้งเลิกกิจการมากสุด รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงาน การจดทะเบียนเลิกกิจการ และตั้งใหม่ของนิติบุคคลในไทยโดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในปี 2567 การจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลใหม่ มีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2.7% แต่มีทุนจดทะเบียนตั้งใหม่รวมอยู่ที่ 285,745 ล้านบาท ลดลง 49.2%
ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการ มีจำนวน 23,679 ราย เพิ่มขึ้น 1.3% และมีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการรวมกันที่ 171,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0%
ขณะที่ไตรมาส 1/2568 การจดทะเบียนตั้งใหม่ มีจำนวน 23,823 ราย ลดลง 4.7% แต่มีทุนจดทะเบียนตั้งใหม่รวมอยู่ที่ 79,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.6%
ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการ มีจำนวน 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 10.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการรวมอยู่ที่ 11,859 ล้านบาท ลดลง 0.7%
หากพิจารณาจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสมในช่วงปี 2566 - ไตรมาสแรก ของปี 2568 ใน 10 อุตสาหกรรมที่เลิกกิจการ มากที่สุด พบว่า จำนวนธุรกิจที่มีการแจ้งเลิกกิจการมากเป็นอันดับ 1 คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร 2. เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 3.ผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากโลหะ 4.เครื่องจักรและเครื่องมือ 5.เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
6.เครื่องดื่ม 7. การพิมพ์ และการผลิตซ้ำ สื่อ 8.ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 9.เภสัชภัณฑ์พื้นฐาน และ10. ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากแร่
ซึ่งพบว่าเป็นประเภทกิจการเดียวกันกับการจัดตั้งธุรกิจใหม่และโดยส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (S) ที่มีทุนจดทะเบียนธุรกิจไม่เกิน 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาทุนจดทะเบียนธุรกิจที่เลิกกิจการรวมกัน พบว่า ธุรกิจที่เลิกกิจการและมีทุนจดทะเบียนมากที่สุด อันดับ 1 คือ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ ยานยนต์ฯ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกิจการที่มีมูลค่าเงินลงทุนค่อนข้างสูงหรือเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (L)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ในสาขาสำคัญ ๆ จะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ (L) และเป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีนมากขึ้น รวมถึงเน้นการเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้าในไทยเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางภาษี
ดังนั้นปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหรือสาขาบริการของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ประกอบต่างชาติ
ทำให้ในระยะถัดไปภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาเป็นต้องมี การติดตามความเสี่ยงจากการปิดกิจการของผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกับผู้ประกอบการต่างชาติท่ามกลางสถานการณ์ของ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังคงดำเนินอยู่และมีความไม่แน่นอนสูง