จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : “Easy E-Receipt” หนุนผลงาน SM Q1/67 ตั้งเป้าสินเชื่อทั้งปีโตกว่า 10% คุม NPL ไม่เกิน 4%


25 มีนาคม 2567
รายงานพิเศษ “Easy E-Receipt” หนุนผลงานSM Q1 67.jpg

มาตรการ Easy E-Receipt  หนุนผลงาน บมจ.สตาร์ มันนี่ (SM)  Q1/67  โตแกร่ง ส่วนแผนปี 67 เดินหน้า All Time High ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่โตไม่ต่ำกว่า 10% คุมเข้มหนี้ NPL สิ้นปีไม่เกิน 4%  เดินหน้าขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางสาขา และดิจิทัล  นำเทคโนโลยีสนับสนุนการเติบโตอย่างมีคุณภาพ


แม้มาตรการ Easy E-Receipt ของรัฐบาล ที่ให้สิทธิผู้เสียภาษีที่ซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทจะจบโครงการไปแล้วเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา  โดยกรมสรรพากรระบุว่า มาตรการ Easy E-Receipt  ถือว่าคึกคักพอสมควร โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการกว่า 9,000 ราย ใกล้เคียงเป้าหมายที่กรมสรรพากรตั้งไว้ที่ประมาณ 10,000 ราย

ต้องยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีเมื่อเทียบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายของประชาชน และยอดขายสินค้าของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ  

"บมจ.สตาร์ มันนี่ หรือ SM" ผู้นำสินเชื่อแห่งภาคตะวันออก โดยผู้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ส่งสัญญาณแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดี  โดย “ชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม” กรรมการผู้จัดการ  รับว่าส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt ของภาครัฐ กระตุ้นกำลังซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้สูงสุด 50,000 บาท รวมถึง โครงการสนับสนุนการขาย และรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจการให้สินเชื่อ 

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจปี67  มั่นใจผลงานของบริษัทยังเดินหน้าทำ All Time High  รับเศรษฐกิจฟื้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ สนับสนุนกำลังซื้อที่เข้ามา โดยตั้งเป้าหมายการขายสินค้าและสินเชื่อใหม่เติบโตรวมไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเช่นกัน จากพอร์ตสิ้นปี66 อยู่ที่ 2,566.1 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 10.7% ภายใต้การควบคุมคุณภาพหนี้ บริหารจัดการ NPL ให้อยู่ที่ 3.58%

สำหรับแผนเชิงกลยุทธ์และการดำเนินการหลัก ได้แก่ มุ่งเน้นเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านการจัดทำโครงการ Lock มือถือ เพื่อสนับสนุนยอดขายสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน และลดความเสี่ยง NPL ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนจากตัวเลขผลการจัดเก็บที่ดีขึ้นตั้งแต่ทำโครงการในช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน รวมทั้ง กลยุทธ์การปรับดอกเบี้ยเช่าซื้อ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพิ่มผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

พร้อมกับแผนธุรกิจในการทำ Digital Transformation นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับกระบวนการทำงาน เพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การปรับปรุงระบบ ERP e-KYC เป็นต้น อีกทั้ง ยังช่วยลดต้นทุนในการขยายสาขา เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในการช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการลง 40%

ตลอดจนมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันออนไลน์เพื่อความครบวงจร และเดินหน้าขยายบริการสินเชื่อใหม่ๆ เจาะกลุ่ม B2B และ B2C รวมถึง ให้ความสำคัญในการมองหาความร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าในหลายธุรกิจ อาทิเช่น ธุรกิจด้าน Green Energy เป็นต้น

ทั้งนี้สิ้นปี66  SM มีสาขาจำนวน 98 แห่ง   ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด รวมทั้งสาขาที่ตั้งอยู่ในตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา โดยเป็นสาขาหลัก 16 สาขา สาขาย่อย 71 สาขา และสาขา Express 8 สาขา  นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าสำรวจพื้นที่ในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อเปิดสาขาเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ปัจจุบันธุรกิจหลักของ SM ได้แก่ 

1. จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถจักรยานยนต์ 
2. ธุรกิจให้บริการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน และสินเชื่อบุคคล โดยหลักประกันเงินให้กู้ยืม เช่น เล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้บริการอื่นเพิ่มเติม เช่น การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย หรือ ประกันชีวิต เป็นต้น
SM