Smart Investment

เซียน VI “โจ ลูกอีสาน” รับตลาดหุ้นปี 66 เหมือนฟ้าแกล้ง


05 มกราคม 2567
“ในการลงทุน ยามตลาดหุ้นดี เราจะไม่ประมาท รู้ว่ามันอาจจะตกได้ทุกเมื่อ ยามตลาดแย่ เราจะไม่ท้อและหดหู่ เพราะรู้ว่า จะมีเวลาที่ดีรออยู่ หากมองเช่นนี้ได้ เราจะเป็น contrarian ที่สามารถควบคุมจิตใจและสามารถซื้อหุ้นได้ในเวลาที่ถูกเพราะคนแห่ขาย และจะขายหุ้นได้แพง ในยามที่คนอื่นแห่ซื้อ เสมอไป และนั่นคือหัวใจของความสำเร็จในตลาดหุ้น” โจ ลูกอีสาน อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) โพสต์ข้อมูลผ่าน เว็บบอร์ด ThaiVi

ผ่านมุมมอง โจ ลูกอีสาน แก้.jpg

จากข้อมูลของ “โจ ลูกอีสาน” หรือ อนุรักษ์ บุญแสวง อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)  มองสาเหตุของการดำดิ่งลงกว่า 15.15% ของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 66 ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก 

พอร์ตส่วนตัว เหมือนฟ้าแกล้ง! 

เพราะมีน้ำหนักลงทุนมากกว่า 90% ของพอร์ตอยู่ในตลาดที่แย่ที่สุดในโลกทั้งสองตลาดคือไทยและฮ่องกง ทำให้ผลตอบแทนทั้งปีติดลบ 

แต่ดีกว่าตลาด (SET TRI) มาก อานิสงส์จากการ rebalancing portfolio โดยโยกเงินจากตลาดที่แพง ไปช้อนซื้อตลาดหุ้นที่ราคาถูก โดยซื้อหุ้นเวียดนามตอนต้นปีตอนลงหนัก และขายตอนปลายปีที่ขึ้นมาเยอะ นำกลับมาช้อนซื้อหุ้นไทยที่ตกหนัก

สาเหตุที่ราคาหุ้นไทยตกต่ำ ไม่ชัดเจนว่า เพราะเหตุผลใด สงครามยูเครน สงครามฮามาส หรือดอกเบี้ยขาขึ้น 

...แต่เหตุการณ์ข้างต้น ทุกประเทศในโลกล้วนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ทำไมตลาดหุ้นไทยแย่สุด 

ในขณะที่ตลาดหุ้นประเทศอื่น เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ หากพิจารณาปัจจัยเฉพาะในประเทศ อาจเป็นปัญหาการเมืองที่รุมเร้าประเทศมาหลายปี ที่ชัดเจนคือต่างชาติขายหนักตลอดทั้งปี 192,500 ล้าน หักกลบกับที่ซื้อเท่าๆกันในปีก่อนหน้านี้ 

...แต่ทำไมต่างชาติขาย ผมตั้งข้อสมมุติฐานว่า GDP โตต่ำ - รัฐแทรกแซงธุรกิจมากขึ้น (โรงไฟฟ้า น้ำมัน ราคาแก๊ส ) – PE แพงกว่าตลาดเพื่อนบ้าน...

ภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยในปี 2566 สรุปคร่าวๆตามมุมองเซียน VI อย่าง “โจ ลูกอีสาน”

เริ่มจาก...

วิกฤติศรัทธาบริษัทจดทะเบียน นับแต่เกิดการปล้นโบรกเกอร์กรณีหุ้น MORE ในปี 2565 ต่อมาปี 2566 เกิดกรณีตกแต่งบัญชีหุ้น STARK และจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไม่ได้ของ JKN ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้นดังกล่าวและยังส่งผลกระบต่อความเชื่อมั่น ต่อระบบการตรวจสอบของตลาดหุ้นไทย 

การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ปีที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียน ตำหนิการซื้อขาย โดยเฉพาะของนักลงทุนต่างชาติและโบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้อง ในทำนองว่าเอาเปรียบนักลงทุนภายในประเทศ ผ่านธุรกรรม เครื่องมือที่มีความซับซ้อนสูง เช่น การ short sell – naked short – Hight frequency trading – program trading ทำให้การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเกินครึ่งของตลาด 

บางคนถึงกับเสนอให้ยกเลิกการซื้อแบบเช่นนี้ไปเลยก็มี 

“ในความเห็นผม เครื่องมืออะไรที่ส่วนใหญ่ทั่วโลกมี “เราควรมี” เพราะนั่นคือการพัฒนาตลาด และตลาดไทยยังต้องพึ่งพานักลงทุนต่างชาติ เช่น การ short sell ทำให้ราคาหุ้นอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล การปั่นหุ้นจะทำให้ยากขึ้น naked short ไม่ควรมีเหมือนทั่วโลก เพราะสร้างแรงขายเทียมที่ทำให้คนตื่นตระหนก”

ส่วน HFT หรือ program trading ควรมีมาตรการเพื่อสร้างความเท่าเทียม ให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้ เพื่อให้เท่าเทียมกัน ....และสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ให้คิดคือ ในยามตลาดหุ้นดีเราได้กำไร นั่นคือฝีมือของเราล้วนๆ แต่ในช่วงตลาดแย่ เป็นเพราะใครก็ได้ที่ทำ (ที่ไม่ใช่เรา) ตอนแย่ๆ เราจะสร้าง “แพะในจินตนาการ” เพื่อกลบเกลื่อนการขาดทุน นั่นอาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่เราจะไม่พัฒนา...

ความไม่เป็นธรรมในตลาดหุ้น ต่อเนื่องจากตอนก่อนหน้า ความเท่าเทียมกัน (ของโอกาส) เป็นโลกในอุดมคติที่ทุกคนใฝ่หา แต่หนทางที่จะบรรลุนั้นมีต้นทุน จนบางคนท้อถอย ยอมรับใน “ชะตากรรม” ไม่หือไม่อือ แต่ยังมีบางคน ที่ยังคิดฝัน แม้ไม่อาจทำได้สมบูรณ์แบบ แต่ควรทำให้ใกล้เคียงที่สุด ผมอยากเป็นคนกลุ่มหลัง โดยขอยกตัวอย่าง ความไม่เป็นธรรมในตลาดหุ้น ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่เราอาจละเลย จนถึงเรื่องใหญ่ที่ควรทำที่สุด และนี่คือประเด็นความไม่ธรรมในมุมมองผม

ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายประมาณ 0.15% ไม่รวมภาษี นักลงทุนกลาง-ใหญ่ เสียค่าธรรมเนียมแล้วแต่การต่อรอง ประมาณ 0.3-0.6 % นักลงทุนสถาบันจะเสียต่ำกว่านี้ได้อีก หรือพวก HFT ค่าธรรมเนียมจะต่ำมาก แต่ไม่มีใครต่ำกว่า Proprietary trading ของโบรกเกอร์เอง ที่แทบไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซื้อขาย นี่เป็นความเหลื่อมล้ำ ที่ผมพอเข้าใจได้ เพราะเป็นระบบต่างตอบแทน ใครมีอำนาจต่อรองสูงกว่า ย่อมได้เปรียบ เสมือนพ่อค้า ซื้อสินค้าเยอะ ก็ได้ส่วนลดมากกว่า...

ความเร็วของการส่งคำสั่งซื้อขาย ทุกวันนี้หากเราเปิดโปรแกรม streaming ก่อน 9.30 ซึ่งเป็นช่วงก่อนตลาดเปิด เราจะเห็นคำสั่งซื้อมารอก่อนแล้ว ซึ่งน่าสงสัยว่ามาได้อย่างไร ในเมื่อนักลงทุนทั่วไปหากส่งคำสั่งช่วงนี้ จะไม่ปรากฏคำสั่งซื้อขายนั้น 

และที่แย่สุด คำสั่งซื้อขายจากต่างจังหวัดแบบผม กว่าจะแสดงใน streaming ตอน 9.30น. ใช้เวลาบางครั้งมากกว่า 1 นาที ทุกวันนี้เหลือประมาณ 33 วินาที ทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น หากเป็นสถานการณ์ปกติ อาจจะไม่มีผลอะไร 

แต่ในวันวิกฤติที่ ต้องขายฟลอร์ หรือซื้อซิลลิ่ง แบบ ATO แล้วหุ้นมีน้อยกว่าความต้องการ ความเร็วแม้ต่างกันเพียงเสี้ยววินาที ก็มีผลว่าจะ match หรือไม่ ว่ากันว่าแล้วแต่โบรกเกอร์ใด “ท่อใหญ่หรือเล็ก” ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่เท่าเทียม เหมือนกับพวก Program trading - HFT ที่ส่งคำสั่งเข้าระบบได้โดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้เร็วมีความได้เปรียบนักลงทุนที่ส่งคำสั่งแบบปกติ..

การเยียวยานักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากอินไซเดอร์ ในสังคมปกติ หากเราโดนปล้นหรือขโมยสินทรัพย์ เมื่อตำรวจจับโจรได้ จะคืนสินทรัพย์ให้เจ้าของทรัพย์ แต่ในตลาดหุ้น เมื่อก.ล.ต.ได้รับค่าปรับทางแพ่งจากคนที่ใช้อินไซเดอร์ กลับริบทรัพย์นั้นเป็นของหลวง ทำไมไม่เอามาเยียวยาคนที่ได้รับความเสียหายจากอินไซเดอร์นั้น หลายครั้ง ผมถือหุ้นบางบริษัท จู่ๆมีแรงซื้อ “ปริศนา”เข้ามาต่อเนื่องแบบไม่มีเหตุผล ผมได้ขายหุ้นออกไป ไม่นานหลังจากนั้น บริษัทประกาศทำ tender ที่ราคาสูงกว่าตลาดมาก หากไม่มีคนรู้ข้อมูลล่วงหน้า คงไม่มีแรงซื้อปริศนา และผมคงไม่ขายหุ้นออกไป เมื่อบริษัทประกาศข่าว ผมจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

นั่นเท่ากับว่าอินไซเดอร์เอาประโยชน์จากผมไป เมื่อ ก.ล.ต.จับได้และปรับเงิน ทำไมไม่เอามาเยียวยา คนที่ได้รับผลกระทบเช่นผม การพิสูจน์ว่าใครเสียประโยชน์ที่ควรได้ ไม่ได้ยากอะไร เพราะมีข้อมูลซื้อขายอยู่ในระบบอยู่แล้ว นี่เป็นอีกเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลในมุมมองผม..
VI