จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : กระแส EV-พลังงานทดแทน หนุนดีมานด์ แบตเตอรี่ในประเทศดันยอดขาย EA พุ่ง


04 มกราคม 2567
ความนิยมในรถพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานทดแทนของภาครัฐ กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ หนุนยอดขายและผลงาน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ทะยานต่อเนื่อง  

รายงานพิเศษ กระแส EV-พลังงานทดแทน หนุนดีมาน.jpg

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินความต้องการใช้แบตเตอรี่ของไทยภายในปี 2573 จะมีไม่น้อยกว่า 36 GWh จากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามนโยบาย 30@30 และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ (PDP 2018 Rev.1) ที่มีแผนการนำแบตเตอรี่ (BESS) มาใช้ โดยความต้องการขั้นต่ำของแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมกันอาจมีไม่น้อยกว่า 34GWh และภาคการผลิตไฟฟ้าจาก Solar+BESS อีกไม่น้อยกว่า 2.76 GWh ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 3,051 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ซึ่งหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยมีนโยบายที่คล้ายคลึงกัน 3 ประการ คือ 1.นโยบายผลักดันให้เกิดความต้องการใหม่ (New demand-driven) 2.นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและการใช้งานผ่านกฎหมายและข้อบังคับ (Regulation-driven) และ 3.การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากงบประมาณนโยบาย (Technical-driven)
          
โดยการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและต้นทุนที่ชะลอลงจะส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงต่อเนื่อง ต้นทุนจากสินแร่สำคัญอย่างลิเธียมและองค์ประกอบอื่นๆ ของแบตเตอรี่มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่กรอบเดิมตามสภาวะปกติจากสภาวะตลาดที่เริ่มคลายตัวและอุปทานส่วนเกิน ผนวกกับการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มี Energy density (Wh/Kg) สูงขึ้น และต้นทุนการดำเนินการ (Opex) ที่ลดลง ส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่มีแนวโน้มลดลง 

ทั้งนี้คาดว่าราคาแบตเตอรี่จะลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2567 จะลดลงราว 21% มาอยู่ที่ 121 ดอลลาร์สหรัฐ/kWh และจะลดลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ราว 12% ต่อปี ในช่วงปี 2567-2570 มาอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐ/kWh

ซึ่งการใช้แบตเตอรี่ที่เติบโตต่อเนื่อง  ส่งผลดีต่อธุรกิจ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  ซึ่ง นายวิทยา เชียงอุทัย CISA Assistant Vice President บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ระบุปี 67 บริษัทจัดสรรงบลงทุนอยู่ที่  14,000 ล้านบาท โดย 46% จะใช้รองรับการขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ขณะที่งบลงทุนสำหรับ EV Train  อยู่ที่ 3%, Charging Station 13%, Waste Management 11%, Biodiesel 2%, Wind 15%, power 1% และที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ    
          
ขณะที่บริษัท ตั้งเป้ารายได้ปีหน้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยมาจากธุรกิจแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 46%, โรงไฟฟ้า (Power) 26%, ไบโอดีเซล 22% และอื่นๆ อีก 6% 
        
ซึ่งในปี 67 บริษัทตั้งเป้ายอดขายรถ EV ที่ 3,300 คัน แบ่งเป็น EV Truck มากกว่า 1,650 คัน และที่เหลือเป็นEV BUS  โดยบริษัทยังคงเน้นตลาด Commercial EV เนื่องจากสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ง่าย, มีดีมานด์ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี เห็นได้จากสถิติย้อนหลังยอดจดทะเบียน Commercial EV จะเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 คัน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าไปในตลาดนี้ ทำให้ในอนาคตคาดว่าปี 69 จะสามารถเพิ่มยอดขายได้ 10% หรือ 8,000 คัน  

ส่วน EV Truck หรือรถกระบะไฟฟ้า บริษัทกำลังพิจารณาการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโต โดยจากการศึกษาขนาดตลาดของ Asia Truck market คาดเติบโตจากประมาณ 54,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปที่ 77,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการเติบโต 42% จากปี 66-73  

สำหรับสถานีชาร์จอีวี ปัจจุบันบริษัทมีการติดตั้งไปแล้วกว่า 500 แห่ง รองรับการใช้งานทั่วประเทศ โดยจะมุ่งเน้นตลาด Mega Charging Station มากขึ้น เพื่อรองรับกับดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงจะขยายการติดตั้งสถานีชาร์จไปในตามสถานที่ต่างๆ เช่น ออฟฟิศ, คอนโดมิเนียม, Community mall เป็นต้น 
          
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 1 GW จะขยายเป็น 2GW ในปี 67 เพื่อรองรับดีมานด์ภายนอกกลุ่มบริษัท
EA