Wealth Sharing

ttb analytics คาดธุรกิจขนส่งพัสดุปี 66 โต 18% แตะ 1.15 แสนล้านบาท


16 กุมภาพันธ์ 2566
ttb analytics คาดธุรกิจขนส่งพัสดุปี 2566 โตต่อเนื่อง 18% แรงหนุนจาก E-Commerce  ด้วยมูลค่ากว่า 1.15 แสนล้านบาท สวนทางกับกำไร  แนะกลุ่มขนส่งพัสดุดั้งเดิมเร่งปรับตัวรับตลาดแข่งขันสูง

ttb analytics คาดธุรกิจขนส่งพัสดุปี66.jpg

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท  ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce เติบโตก้าวกระโดด ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมอยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว แนะผู้ประกอบการขนส่งพัสดุดั้งเดิมรักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่โดดเด่น และขยายการบริการไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น

โดยต้องยอมรับว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นช่องทางการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว  ปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่งที่เติบโตกว่า 90% และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทุกด้าน กอปรกับการสนับสนุนจากภาครัฐในการเสริมทักษะความรู้ สนับสนุนด้านการเงิน และให้คำแนะนำด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมและสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นได้ 

สำหรับในช่วงปี 2563-2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับหนุนให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตสูงกว่า 30% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี  โดยมีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาลงทุนในตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่าตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่งในปี 2564 ที่เติบโตกว่า 16%
ทั้งนี้ทิศทาง E-Commerce ที่เติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล  ดังนั้นผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมที่ไม่ได้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาตลาดในเชิงคุณภาพมากขึ้น