News Today

KTX แนะเกาะติดตลาดหุ้นไทย ลงทุนรอบใหม่ให้รอดัชนีต่ำกว่า 1309 จุด


07 พฤศจิกายน 2566
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ KTX  มองเห็นสัญญาณการกลับมาลงทุนของตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ โดยเฉพาะบริเวณที่ SET INDEX ต่ำกว่า 1309 จุด โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยคือ ภาวะ Risk-Off ต่อสินทรัพย์ Equities โลก ผ่าน 

KTX แนะเกาะติดตลาดหุ้นไทย.jpg

1.ทิศทางของยิลด์พันธบัตรสหรัฐฯ โดยเฟดอาจคงนโยบาย Higher for Longer เพื่อลดความเสี่ยงเงินเฟ้อพุ่ง 

2.สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ลุกลามบานปลายไปเป็นสงครามศาสนา (ยิวกับอิสลาม) ระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตร กับกลุ่มตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน ตุรกี 

3. US Government Shutdown เป็นความเสี่ยงระยะสั้น แต่คาดประสบความสำเร็จต่อการเลื่อนงบประมาณรัฐบาลออกไปชั่วคราว 
4.แนวโน้มผลกำไรและเศรษฐกิจไทย อาจถูกปรับลดประมาณการลงรอบใหม่ ผ่านรายงาน 3Q23E GDP Growth และการประกาศงบ 3Q23 ของบจ. ที่แย่กว่าคาด            

นักวิเคราะห์มองว่า หากอิง Tactical Play เมื่อผลตอบแทน มากกว่าความเสี่ยง แนะนำให้เริ่มเข้าลงทุน โดยมีแนวรับหลักที่ 1,309 จุด  เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี (Bond Yields) ทรงตัวอยู่ที่ 3.35% แต่ด้วยอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย (Earnings Yield) ที่ขยายตัวขึ้น 27bps WoW สู่ระดับ 7.22% หลังจากดัชนี SET ปรับฐานลงมาที่ 1,371 จุด (ณ ราคาปิดวันที่ 26 ต.ค.) ทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Market risk premium) ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 26bps WoW สู่ระดับ 3.87% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 90 วัน ที่ 3.73% มีนัยถึงตลาดหุ้นไทยที่เข้าสู่โซนที่ผลตอบแทน (Reward) คุ้มค่ากับความเสี่ยง (Risk)

“ทั้งนี้ เรามองกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” (Speculate Buy) โดยประเมินกรอบซื้อเพื่อลงทุนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 1,309-1,398 จุด (อิง MRP +2SD ที่ 4.22% และ 90-Day average ที่ 3.73%) ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ ระดับปัจจุบันที่ 1,371 จุด อิง MRP ที่ 3.87% สูงกว่าค่าเฉลี่ย MRP ระยะ 90 วัน ที่ 3.73%” นายถนอมศักดิ์ กล่าว  

ด้านเศรษฐกิจไทย มองว่ามีแนวโน้มเติบโตในอัตราต่ำต่อเนื่องจาก 2Q23 และมีความเสี่ยงเชิงลบต่อการปรับลดเป้าเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2023-24E   โดยสภาพัฒน์ฯ มีกำหนดรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ 3Q23E GDP Growth ในวันที่ 20 พ.ย.โดยแรงขับเคลื่อนมาจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงมีโมเมนตัมเชิงบวกและภาคท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวดี ส่วนปัจจัยลบมาจากภาคการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวกว่าคาด ทำให้ประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2023-24E ยังคงมีความเสี่ยงถูกปรับลดประมาณการ เนื่องจากการขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ปัญหา Credit Crunch ของสถาบันการเงิน และความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลปี 2024 จากปกติต้นเดือน  ต.ค. แต่ต้องถูกเลื่อนไปเป็นช่วง 2Q24E รวมถึงความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital Wallet ของรัฐบาลเศรษฐาว่าจะถูกปรับลดจากเดิม 5.6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% GDP มากน้อยเพียงใด 

สำหรับมุมมองจากต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทย ผลสำรวจจากผู้จัดการกองทุนโลกเดือน ต.ค. สะท้อนว่าต่างชาติยังคงไม่สนใจลงทุนตลาดหุ้นเกิดใหม่เอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยยังมีมุมมองลบสำหรับหุ้นและมีการปรับพอร์ตลงทุน โดยเพิ่มน้ำหนักลงทุนไปที่กลุ่ม Energy & Commodities , Telecom, Materials/ Japan ลดน้ำหนัก กลุ่ม Consumer Staples, Utilities เนื่องจาก High Leverage /EM Underweight เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2022

ด้านการจัดสรรพอร์ตการลงทุน KTX มองว่า การลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินสด หรือพันธบัตรรัฐบาล ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนสูงสุด ภายใต้ความไม่แน่นอนของความเสี่ยงสงครามตะวันออกกลาง และการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียน ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ทองคำ แนะนำลดพอร์ต(ขายทำกำไร) หลังจากระดับราคาพุ่งขึ้นรับรู้ความเสี่ยงเชิงลบของสงครามไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแนะนำลงทุนหุ้นปันผลดี (Dividend Stocks) ที่มีประวัติการจ่ายปันผลสม่ำเสมอด้วยอัตราผลตอบแทนต่อปีสูงกว่า5% หรือลงทุนใน Structured Note หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งให้ผลตอบแทนหรือมีมูลค่าเชื่อมโยงกับหลักทรัพย์อ้างอิง ที่อ้างอิงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ หุ้นรายตัว ตราสารหนี้ เป็นต้น

ความเสี่ยงเชิงลบ (ยังคงให้โอกาสเกิดขึ้นน้อย) จะมาจาก การขยายตัวของสงครามเฉพาะกลุ่ม( Israel Vs Hamas war) ไปสู่สงครามตะวันออกกลาง( Israel + US Vs Arab wars) ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เนื่องจากจะทำให้เกิดการ Risk-off จากสินทรัพย์เสี่ยง (Risky asset) อาทิ หุ้นเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) อาทิ ทองคำ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมไปสู่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีสถานะเป็นผู้นำเข้าต้องเผชิญกับความเสี่ยงการขาดดุลการค้า(ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น) และความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่อาจเร่งขึ้นตามต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
KTX