News Today

KKP ประเมินนโยบายรัฐฯใช้งบ 3.6%กระตุ้นศก. 1% “ได้ไม่คุ้มเสีย” แนะควรช่วยเหลือแบบเจาะจง


04 ตุลาคม 2566
KKP ประเมินนโยบายรัฐฯ ใช้งบ 3.6% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1% ของ GDP อาจได้ไม่คุ้มเสีย แนะช่วยเหลือแบบเจาะจง และปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อความยั่งยืน  เตือนไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง

KKP ประเมินนโยบายรัฐฯใช้งบ.jpg

KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม  การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

KKP Research ยังกังวลต่อผลกระทบทางอ้อมที่ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะต้นทุนทางการคลังแต่จะยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอีกหลายมิติ ซึ่งเริ่มสะท้อนผ่านตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา คือ

1)       การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากและการตรึงราคาสินค้าในประเทศ จะทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Twin deficits หรือขาดดุลการคลังพร้อมกับการดุลบัญชีเดินสะพัด ความกังวลของนักลงทุนส่วนหนึ่งสะท้อนในการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

2)       การขาดดุลของภาครัฐ ภาระจากมาตรการกึ่งการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความกังวลต่อวินัยทางการคลังของรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ภาระทางการคลังที่มากขึ้นหมายความว่าความจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดที่ตึงตัวจะทำให้ต้นทุนทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยทั้งในตลาดพันธบัตรและในธนาคารปรับตัวสูงขึ้น เกิดปัญหา “Crowding out effect” การลงทุนภาคเอกชนลดลง และความเสี่ยงสำคัญที่ตามมา คือ ประเทศไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง

3)       ต้นทุนที่สำคัญที่สุด คือต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเชิงโครงสร้างในระยะยาว  การใช้จ่ายในจำนวนเงินมากถึง 560,000 ล้านบาทจะทำให้รัฐบาลไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นโยบายเศรษฐกิจยังไม่ตรงจุด

KKP Research ประเมินว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันที่เน้นเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดยเฉพาะการแจกเงินให้กับคนทั้งประเทศซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นและสร้างภาระต้นทุนภาครัฐที่สูงจนเกินไป ในขณะที่ขาดนโยบายระยะยาวด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาอุปสรรคมากกว่าต่อเศรษฐกิจไทย การทำนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้มีเฉพาะการแจกเงิน แนวทางที่ภาครัฐควรพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน คือ

1)       มาตรการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (targeted measures) ที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ที่ชะลอตัว ซึ่งจะเหมาะสมมากกว่ากับบริบทของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง หรือมีมาตรการในการคัดกรองผู้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินนโยบายได้มากและมีประสิทธิผลคุ้มค่ากว่าแจกถ้วนหน้าแบบไม่เจาะจง

2)       นโยบายภาครัฐไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวฝั่งอุปทานของเศรษฐกิจไทย โดยควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระยะยาว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและสร้างต้นทุนต่อการทำธุรกิจ ลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างทรัพยกรบุคคลที่มีคุณภาพ สร้างแรงจูงใจในการจัดสรรทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
KKP