จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ไทยใช้อินเทอร์เน็ตสูงติดอันดับ 7 ของโลก หนุนธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ TPS โตก้าวกระโดด


08 กุมภาพันธ์ 2566
ธุรกิจบริการดิจิทัลปี 66 แตะ 5.6 แสนล้าน  ผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น  หนุนธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้เติบโตตาม ซึ่ง TPS  ตั้งเป้าเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างครบวงจร
รายงานพิเศษ TPS080223.jpg


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics  ระบุ ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Services) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนและเป็นขั้นตอนกระบวนการสำคัญของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสาร แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจบริการดิจิทัลในประเทศมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง ผลจากการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลของไทยในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ตั้งแต่การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ 

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ช่วยผลักดันบริการดิจิทัลในภาพรวมเติบโตกว่า 36% จากการที่ผู้ประกอบการนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเต็มตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับตัวและมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการธุรกิจบริการดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน 

โดยในปี 2565 คนไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ปัจจุบันระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 78% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันถึงกว่า 9 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 7 ของโลกที่มีค่าเฉลี่ยราว 7 ชั่วโมงต่อวัน

ปัจจุบันธุรกิจบริการดิจิทัลที่มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก มีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่ากลุ่มที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลอื่น ๆ กว่า 2 เท่า โดยพบว่าธุรกิจบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายมีการเติบโตต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ E-Logistics และ E-Retail ที่เติบโตได้ 58% และ 44% ในปี 2564 ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานมีการซื้อสินค้าและการใช้บริการออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน 

จากมูลค่าตลาดธุรกิจดิจิทัลในภาพรวมราว 4.5 แสนล้านบาทในปี 2565  ttb analytics คาดว่าในปี 2566 นี้ ธุรกิจบริการดิจิทัลยังมีแนวโน้มเติบโต 24% มูลค่าอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น  ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจบริการดิจิทัลทั่วโลกที่มีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 34% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

การเติบโตของธุรกิจด้านดิจิทัลและการที่คนไทยมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันกว่า 9 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก  ส่งผลให้การโจรกรรมข้อมูล หรือแฮ็กเกอร์ทางคอมพิวเตอร์ขยายตัวตามไปด้วย  ซึ่งในปี2566 บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS ) ผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology Solutions Provider : ITP ) เดินหน้าขยายธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ครบวงจร  โดย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บุญสม กิจเกษตรสถาพร” ย้ำว่า

บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นในการรุกขยายธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยเป็นการเพิ่มในส่วนของการบริการติดตั้งระบบป้องกันการแฮ็กข้อมูลทางธุรกิจและตรวจสอบภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยจะเริ่มให้บริการกับกลุ่มลูกค้าเดิมของ TPS ที่สนใจ และเพื่อรองรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA  
          
และปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้ง มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) การโจรกรรมข้อมูล มีแนวโน้มความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจต่างๆ จึงให้ความสำคัญในการดูแลรักษาระบบข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และด้วยที่บริษัทฯ มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ และเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ อีกด้วย
          
สำหรับธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ภายใต้บริษัท เอ็กซ์-ซีเคียว จำกัด (X-Secure Co.,Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจหลายราย โดยเฉพาะลูกค้าจากภาคเอกชน และเริ่มทยอยรับรู้รายได้แล้ว

นอกจากนี้บริษัท TPS ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานของภาครัฐที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ จะมีการเข้าประมูลงานทั้งของ TPS และในส่วนของบริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 1,683 ล้านบาท และจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป
        
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการใหม่ๆ รวมทั้งการขยายธุรกิจ โดยเน้นการทำ M&A กับบริษัทที่มีผลงานการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจ โดยบริษัทฯ จะพิจารณาถึงการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น 

"ในปี 66 TPS และ เดอะวินฯ ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการใหม่ๆ ทั้ง โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โครงการด้านสาธารณูปโภค รวมทั้ง งานที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและอยู่ในเทรนด์ปัจจุบัน เช่น EV CHARGER เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของบริษัทฯ พร้อมทั้ง มุ่งสร้างรายได้จากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขายเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ TPS มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น  ซึ่งคาดผลงานปี 66 เติบโต 50% จากปีก่อน " นายบุญสม กล่าว
TPS