จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : COLOR รายได้แข็งแกร่ง จากธุรกิจใหม่ “Floating Solar”


31 กรกฎาคม 2566
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นที่ต้องการมากขึ้นจากทุกภาคส่วน หนุนธุรกิจ New S Curve  ของ บมจ.สาลี่ คัลเล่อร์ (COLOR)  การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ เติบโตแข็งแกร่ง สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้บริษัท 

รายงานพิเศษ COLOR.jpg

ttb analytics  วิเคราะห์ตลาดโซลาร์เซลล์  โดยระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศและเสียงที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนรอบข้าง  ตลอดจนระยะเวลาการติดตั้งเพียง 2-3 วันเท่านั้น (สำหรับการติดตั้ง 5 kWh) ส่งผลให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้เกิดพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคาร (Solar Rooftop) มากขึ้น 

รวมทั้งค่าอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีการปรับลดลงมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์จำนวนมากจะประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน อีกทั้งทิศทางอัตราค่าไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีอัตราคืนทุนเร็วขึ้น

สำหรับรูปแบบการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์มีหลายแบบ  ได้แก่   

การติดตั้งแบบยึดอยู่กับที่ (Fixed System)
เป็นวิธีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แบบมีตำแหน่งที่ชัดเจน ก่อนที่จะทำการติดตั้งจำเป็นจะต้องตรวจสอบแสงอาทิตย์ เพื่อหาข้อมูลที่จุดติตตั้ง องศาในการติดตั้ง เพื่อให้แผงโซล่าเซลล์จะได้รับแสงอาทิตย์ ความเข้มของแสง เพื่อให้โซล่าเซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยข้อดีของการติดตั้งโซล่าเซลล์แบบนี้คือ มีต้นทุนในการติดตั้งและค่าบำรุงรักษาต่ำกว่า แต่ก็จะรับแสงและผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดในบางช่วงเวลาเท่านั้น

การติดตั้งแบบหมุนตามดวงอาทิตย์ (Tracking System)
เป็นวิธีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่สามารถหมุนแผงตามดวงอาทิตย์ได้ โดยอาศัยโปรแกรมในการควบคุมการหมุน เพื่อให้สามารถรับแสงอาทิตย์และความเข้มของแสงได้สูงที่สุด  ซึ่งการติดตั้งชนิดนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าแบบยึดติดอยู่กับที่ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่สูงกว่า

การติดตั้งโซล่าฟาร์มแบบลอยน้ำ (Floating System)
เป็นวิธีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนพื้นผิวน้ำ โดยติดตั้งบนทุ่นที่มีคุณสมบัติที่ลอยน้ำได้ โดยที่จุดเด่นของการติดตั้งแผงโวล่าเซลล์บนผิวน้ำ คือ ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าบนพื้นดิน เพราะบนผิวน้ำจะระบายความร้อนได้ดีกว่า ทำให้แผงโซล่าเซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพมากกว่า และไม่จำเป็นต้องสูญเสียพื้นดินสำหรับใช้งาน

สำหรับบริษัทที่เชี่ยวชาญในการทำโซล่าฟาร์มแบบลอยน้ำ  ต้องนึกถึง บมจ.สาลี่ คัลเล่อร์ (COLOR)  เนื่องจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเม็ดพลาสติก จึงมีความชำนาญในการทำทุ่นลอยน้ำ  ซึ่ง “พีรพันธ์  จิวะพรทิพย์”  กรรมการผู้จัดการ COLOR   ระบุว่า บริษัท เดอะบับเบิ้ลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) ในโครงการบริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ของบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ภายในบริเวณบ่อน้ำนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มูลค่ารวม 347,228,189 บาท  
          
โครงการนี้อยู่ภายใต้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ บริษัท ไฮเพาเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการให้บริการจัดการไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ของ "เหล็กสยามยามาโตะ" ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง 
         
สำหรับ COLOR และ PLANET จะเป็นผู้ออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (EPC) การผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในโครงการดังกล่าวตามสัญญา
          
"การลงนาม MOU ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ มีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับ เป็นบริษัทฯ ที่มีความชำนาญ และยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การขยายงานรวมถึงการรับงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนงานด้านธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็น New S Curve ช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต" นายพีรพันธ์ กล่าว