จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ครัวเรือนแห่ติดโซลาร์รูฟ หนีค่าไฟแพง ดัน SOLAR โตก้าวกระโดด


06 มิถุนายน 2566
ราคาค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูง  กระตุ้นครัวเรือนติดตั้ง Solar rooftop  ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งก็มีแนวโน้มลดลงตามราคาแผงโซลาร์ที่ปรับลงต่อเนื่อง  หนุนผลงานบริษัท โซลาร์ตรอน  (SOLAR) อนาคตเติบโตก้าวกระโดด
รายงานพิเศษ ครัวเรือนแห่ติดโซลาร์รูฟ หนีค.jpg
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ว่า ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เร่งตัวสูงขึ้นผนวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าไฟฟ้าของครัวเรือนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 65 และเร่งตัวขึ้นมากในช่วงท้ายปีต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลจาก
         
1. ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่เร่งตัว โดยค่า Ft เร่งตัวตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติของโลก  เนื่องจากเป็นพลังงานหลักของการผลิตไฟฟ้าในไทย และไทยมีแนวโน้มพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในตลาด Spot มากขึ้น ซึ่งมีราคาสูงกว่า 2-3 เท่าของราคาก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา 
         
2. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสภาวะที่อากาศร้อนมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า (ยิ่งใช้ไฟมาก ก็ยิ่งจ่ายแพง) โดยถ้าใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟหน่วยถัดไปเพิ่มราว 20-30%
          
ดังนั้นราคาแผงโซลาร์ที่ถูกลง เพิ่มโอกาสการติดตั้ง Solar rooftop ท่ามกลางค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นของครัวเรือน ขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง Solar rooftop มีแนวโน้มลดลงตามราคาแผงโซลาร์ที่ลดลงต่อเนื่อง จึงช่วยเพิ่มโอกาสที่ครัวเรือนจะติดตั้ง Solar rooftop มีมากขึ้น โดย SCB EIC คาดว่าราคาแผงโซลาร์จะยังคงลงต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าเกือบ 20% (เฉลี่ยปีละ 7%) จากที่ลดลงไปแล้วเกือบ 60% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา[1] ทั้งนี้รูปแบบการติดตั้ง Solar rooftop ในที่อยู่อาศัยยังคงกระจุกตัวอยู่ในรูปแบบ On Grid System เนื่องด้วยต้นทุนแบตเตอรี่ที่ยังสูง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญใน Off grid system และ Hybrid system 

SCB EIC คาดว่า กลุ่มเป้าหมายในการติดตั้ง Solar rooftop สำหรับภาคครัวเรือนอาจมีอยู่ราว 1.7 แสนครัวเรือน (0.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดที่ 23 ล้านครัวเรือน) คิดเป็นมูลค่าตลาดการติดตั้งรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง (มากกว่า 50,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน)  
         
แม้กลุ่มเป้าหมายจะมีสัดส่วนน้อย แต่หากเกิดปัจจัยเร่งอื่นๆ เพิ่มเติม ก็อาจช่วยหนุนให้ Solar rooftop ในครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสติดตั้ง Solar rooftop จะมีเพียง 0.8% ท่ามกลางเงื่อนไขราคาติดตั้งและต้นทุนค่าไฟฟ้าแบบปัจจุบัน ขณะที่ครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar rooftop ไปแล้วยังมีไม่ถึง 0.1% ซึ่งถือว่าเป็น Adoption rate ที่ต่ำมาก
          
และหากภาครัฐปรับราคารับซื้อไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าในทุกประเภทพลังงานเฉลี่ยที่ 3.77 บาท/หน่วย และต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เฉลี่ยที่ 7.73 บาท/หน่วย ก็จะจูงใจผู้ใช้ไฟในการติด Solar rooftop

ราคาค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ระดับสูง กระตุ้นความต้องการติดตั้ง Solar rooftopให้มากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท โซลาร์ตรอน  (SOLAR)  ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่าง ๆ และให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ   ซึ่ง “สิทธิชัย กฤชวิวรรธน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SOLAR มั่นใจภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 2/66 ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจหลักการผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่าง ๆ  ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน จึงหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น สนับสนุนความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ ขณะเดียวกันคาดว่าจะสามารถปิดงานในส่วนของธุรกิจ EPC ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย 
         
และบริษัทยังมองโอกาสขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันกับพลังงานหมุนเวียน และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 3/66  ซึ่งมั่นใจว่าธุรกิจใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 66 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 20-30%ในส่วนของธุรกิจเดิม ซึ่งยังไม่นับรวมธุรกิจใหม่ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ดังนั้นมั่นใจว่า จะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้อย่างแน่นอน โดยปัจจัยหลักจะมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์, งาน EPC โซลาร์รูฟท็อป, การจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 9 เมกะวัตต์ และการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA 
         
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังได้รับผลดีจากโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งมีการเปิดให้ประมูลราว  5,000 เมกะวัตต์ ส่งผลทำให้ความต้องการแผงโซลาร์เซลเพิ่มขึ้น ขณะที่การที่รัฐบาลเวียดนามได้มีการอนุมัติแผนพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 (PDP8) ซึ่งจะมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 150 GW ภายในปี 73 โดยคาดว่าจะมีโซลาร์เซลล์ อยู่ในสัดส่วน 20 GW  อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าเข้าไปประมูลงาน Private PPA อย่างต่อเนื่อง