จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : APCS บูมรับกระแสพลังงานทางเลือก ฐานะผู้เชี่ยวชาญบริหารโครงการก่อสร้าง


25 มกราคม 2566
กระแสการใช้พลังงานทางเลือก  หนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน  ส่งผลดีต่อธุรกิจบริษัทบริษัท เอเซีย พรีซิชั่น (APCS)  ที่เชี่ยวชาญบริหารโครงการก่อสร้างพลังงานทางเลือกและระบบสาธารณูปโภคประเภทต่างๆ แบบครบวงจร 
รายงานพิเศษ APCS250123.jpg

กระทรวงพลังงานย้ำทิศทางพลังงานในอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่อง

ซึ่งปี 2566 กระทรวงพลังงานวางแผนการลงทุน  โดยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท   โดยแผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปีนี้ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด  ตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน 

ซึ่งได้วางแผนงานและโครงการ แบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ
มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ

การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดของไทย ส่งผลดีต่อธุรกิจ บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น (APCS)  ซึ่งบริษัทเป็นกลุ่มกิจการด้านวิศวกรรม โดยเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการก่อสร้างพลังงานทางเลือกและระบบสาธารณูปโภคประเภทต่างๆ แบบครบวงจร รวมถึงให้บริการด้านดำเนินการและการบำรุงรักษา (O&M) และบริษัทดำเนินธุรกิจอื่นประกอบด้วย ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนโลหะความเที่ยงตรงสูง (Precision Metal Parts) และธุรกิจระบบสาธารณูปโภค (Utilities)

กรรมการบริหารกลุ่ม APCS “สุริยล อุดชาชน” ระบุว่า  บริษัทได้รับงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานเพิ่มเติมอีก 1 โครงการในเร็วๆนี้  ส่วนในปี 2566  บริษัทยังมีโอกาสรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอีก 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท
          
และที่สำคัญบริษัทยังเตรียมตอบรับโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทน ที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ โดยให้เอกชนที่สนใจลงทุนยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า 

แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 3,368 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์  ซึ่งจะประกาศผู้ชนะในเดือน มี.ค.66 คาดว่าจะเกิดการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท  ถือเป็นโอกาสดีในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทที่จะคว้างานเพิ่มได้อีกมาก เนื่องจากบริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความชำนาญและประสบการณ์ก่อสร้างในด้านนี้โดยตรง โดยเห็นได้จากผลงานโครงการที่ผ่านมาที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก