จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TEGH ขานรับนโยบายพลังงานสะอาด กระตุ้นผลิตไฟจาก “ก๊าซชีวภาพ”


27 มีนาคม 2566
ไบโอแก๊สนับเป็นพลังงานสะอาด ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและกระตุ้นให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากของเสียในขบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม หนุนธุรกิจ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ที่มีแผนขยายกำลังการผลิต  หวังสร้างรายได้เติบโตยั่งยืน

รายงานพิเศษ TEGH ขานรับนโยบายพลังงานสะอาด.jpg

ก๊าซชีวภาพ (Biogas)  เป็นพลังงานที่สำคัญของไทย  ที่เกิดจากการหมัก และการย่อยสลายของสารอินทรีย์  และก๊าซชีวภาพส่วนใหญ่ คือ ก๊าซมีเทนที่ได้จากการหมักมูลสัตว์หรือของเสียจากโรงเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ  และก๊าซมีเทนสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารและกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องการใช้ความร้อน ส่วนของเหลือจากถังหมักเมื่อสะสมมากๆ ยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้อีกด้วย ปัจจุบันครอบครัวตามชนบทสามารถผลิตเชื้อเพลิงแบบนี้ใช้ได้เอง โดยก๊าซชีวภาพ 1 ลูกบาศก์เมตรมีค่าความร้อน 21.5 MJ หรือเท่ากับค่าความร้อนของก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas : LPG) 0.46 กก. หรือไฟฟ้า 1.2 kWh และถ่าน 1.6 กก.

ก๊าซชีวภาพ จึงเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ  เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรทำให้มีวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพได้มาก  และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานก็สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจะก๊าซชีวภาพ  โดยขยายการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพทั้งจากของเสียและพืชพลังงาน 

ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)(TEGH)  ที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ยางธรรมชาติ น้ำมันปาล์มดิบ และพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์  ก็มีแนวทางการพัฒนาและขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ 
โดย “สินีนุช โกกนุทาภรณ์” 
กรรมการผู้จัดการ ระบุถึงความคืบหน้าโครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ ระยะที่ 1 คาดว่าจะCOD ได้ในไตรมาส 2/66 ทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับปริมาณกากอินทรีย์ได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 300 ตัน รวมเป็นความสามารถในการรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ทั้งหมด 720,000 ตัน/ปี และผลิตก๊าซชีวภาพได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้มีกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพรวมเป็น 34 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจาก 43 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 64 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง/ปีภายในปี 66 พร้อมรองรับความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจากทั้งภายในและนอกกลุ่มบริษัทฯ อีกด้วย
 
ส่วนธุรกิจอื่นของบริษัท ซึ่งได้แก่การผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ   บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตยางแท่งเป็น 430,000 ตัน/ปี ภายในปี 67 หรือเพิ่มขึ้น 34% จากกำลังการผลิตปัจจุบัน และตั้งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้ายางแท่งในตลาดอินเดียและจีนมากขึ้น โดยบริษัทฯ ยังคงเน้นการผลิตสินค้าเกรดพรีเมียมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าชั้นนำระดับโลกได้ และให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้ามาตรฐานความยั่งยืนที่มีปริมาณขายเติบโตขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 
          
สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ บริษัทคาดว่าปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาได้ หลังจากที่มีการซ่อมบำรุงเครื่องจักรไปเมื่อปีที่แล้ว และจากโครงการติดตั้ง Boiler ลูกใหม่ที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66 ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น และเดินหน้าติดตั้งหม้อนึ่งปาล์ม (Sterilizer) เพิ่มเติม เพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 84 ตันปาล์มทะลาย/ชั่วโมง ส่งผลให้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบรวมเพิ่มขึ้น เป็น 735,000 ตันปาล์มทะลาย/ปี คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในไตรมาส 4/66 นี้
          
"แผนธุรกิจในปีนี้เราตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 10% จากการเติบโตและขยายกำลังการผลิตของทั้ง 3 สายธุรกิจหลัก  ซึ่งสัดส่วนรายได้จะยังคงใกล้เคียงเดิม ในขณะเดียวกัน เราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยตอนนี้ บริษัทฯ ก็ได้ทำแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ์เป็นศูนย์ต่อไป"  นางสาวสินีนุช กล่าว