จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : WP รับอานิสงส์ต้นทุนไฟฟ้าแพง ยอดติดตั้ง “โซลาร์ รูฟท็อป” พุ่ง


23 มกราคม 2566
ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น นับเป็นต้นทุนที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เป็นหนึ่งในแนวทางการลดต้นทุนที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้บริษัท  ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP)  ที่บุกตลาดพลังงานสะอาด  สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

รายงานพิเศษ WP รับอานิสงส์ต้นทุน.jpg

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้เสวนาหลัก  ภายใต้หัวข้อ การขยายตัวทางการคลัง และการเสวนาหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม 

โดยในส่วนการเสวนาหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม รมว.คลังได้ย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 รวมถึงได้ปรับปรุงเป้าหมายการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model)

ซึ่ง รมว.คลังได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อาทิ การระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) หรือตราสารหนี้ข้ามพรมแดน และการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ขณะที่ สถานการณ์ทิศทางราคาพลังงานในประเทศ  รมว.อุตสาหกรรม ยอมรับว่า ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น  และส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง  

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88%

แนวทางการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนการนำเข้าพลังงาน ได้แก่ การพึ่งพาพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น
          
การใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นการสนับสนุนลดภาวะโลกร้อน  และสนับสนุนผลประกอบการของบริษัท  ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP)   ซึ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง”  รับว่า ในฐานะที่ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ เป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)ภายใต้ แบรนด์ เวิลด์แก๊ส ได้เล็งเห็นเทรนด์ความต้องการใหม่ ๆ ของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่แปรเปลี่ยนไปสู่แนวทางความยั่งยืนมากขึ้น  จึงมีวิสัยทัศน์ที่จะขยายความเชี่ยวชาญให้บริษัทเป็นมากกว่าผู้จัดจำหน่ายก๊าซLPGทั่วไป  โดยมุ่งสู่กลุ่มบริษัทพลังงานครบวงจรเพื่อทุกคน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติให้กับสังคมอย่างแท้จริง

ซึ่งธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทางบริษัทฯ ได้วางรากฐานสำหรับการสนับสนุนแนวคิดเรื่องพลังงานสะอาด สอดคล้องกับการพยายามเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอ ทั้งเพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างช่องทางรายได้ใหม่ ๆ เป็นการต่อยอดธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงนามในสัญญาPPA 15 โครงการให้กับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆรวมกำลังการผลิตกว่า10 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมอย่างน้อย 30 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ถึง100  เมกะวัตต์  ภายในปี2568  โดยเน้นที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงสถานศึกษา วัด โรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจเพื่อผลดีต่อสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
    
โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ในการติดตั้ง และดูแลอุปกรณ์โซลาร์ รูฟท็อป ขนาด 250 กิโลวัตต์ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญสำหรับ การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มสุขภาพและสาธารณสุข โดยในเฟสแรกจะเป็นความร่วมมือในการติดตั้ง และดูแลอุปกรณ์โซลาร์ รูฟท็อป และอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อขยายความร่วมมือไปสู่โรงพยาบาลในเครืออีก 3 แห่ง รวมเป็น1เมกะวัตต์  ในอนาคต 

ซึ่งคาดว่าในปีแรกของการติดตั้ง จะช่วยกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช ลดการใช้พลังงานได้มากกว่าปกติ 20% และช่วยลดค่าไฟฟ้ากว่า 30% และคาดหวังว่าภายในสิ้นปี 2566 จะช่วยโรงพยาบาลลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ มากกว่า 170ตัน/ปี
WP