Talk of The Town

ไขข้อสงสัย ไทยโดนสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% กระทบอะไรบ้าง?


09 กรกฎาคม 2568

ข่าวช็อกตลาดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น ประเด็นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาส่งจดหมายไปยังหลายประเทศถึงอัตราภาษีการค้าที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.68 ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้อัตราภาษีใกล้เคียงช่วงประกาศภาษีการค้าตอบโต้ และภาษีที่ประกาศอยู่ในระดับ 25-40% สูงกว่าเวียดนามที่ 20% 

ไขข้อสงสัย_S2T-(เว็บ).jpg

โดยไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเดิมที่กำหนดเมื่อ 2 เมษายนที่อัตรา 36% รวมถึงสินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านในอัตราเดียวกัน และขู่หากไทยขึ้นภาษีตอบโต้ สหรัฐจะเก็บเพิ่มอีก พร้อมเปิดทางให้เจรจา หากเป็นผล คาดภาษีอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากรวมภาษีจากกลุ่ม BRICS ที่จะโดน เพิ่ม 10% ทำให้ไทยเคราะห์ร้ายถูกเก็บแพงกว่าประเทศอื่นๆ

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า วัตถุประสงค์หลักเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทยที่อาจถูกกดดันให้นำเข้าสินค้าต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ไทยเสนอให้สหรัฐฯ คือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม, พลังงาน, เครื่องบิน BOEING และอาจต้องให้อัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ 0% ในหลายรายการ

สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ไทย 36% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นปัจจัยเข้ามากดดันซ้ำเติมเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแรงอยู่แล้ว อาจแรงหนักกว่าเดิมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการลงทุน (I) และการค้าระหว่างประเทศ (NX)

INVESTMENT: I ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีความเสี่ยงลดลง หลังอัตราภาษีของไทยมีแนวโน้มสูงเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านี้แทน ถึงแม้ข้อมูลในอดีตจะบ่งชี้ว่าช่วงปี 2567 ยอดขอรับการส่งเสริม FDI จะพุ่งสูง 8.3 แสนล้านบาท บวกกับมูลค่า FDI ต่อ GDP ของไทยจะโดดเด่นในช่วง TRADE WAR 1 (ภาพเหล่านี้อาจเลือนหายไป)

NET EXPORTS: NX การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลง (ส่งออก - นำเข้า) หากไทยมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ลดลง และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จนกดดันดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีรายได้ลดลงตามไปด้วย ขณะที่ในช่วงปี 2567 ไทยมี NX ราว 6.2 แสนล้านบาท ส่วนดุลการค้ากับสหรัฐฯไทยเกินดุลราว 1.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ผลพวงที่องค์ประกอบ GDP ทั้ง 2 ส่วนได้รับผลกระทบ ในท้ายที่สุดภาคการบริโภคคงหลีกเลี่ยงได้ยาก

CONSUMPTION: C เสี่ยงกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 68 ขณะที่ ธปท. ประเมินกรณี WORST CASE ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้แค่ 1.3%

และหากสถานการณ์เลขร้ายมากกว่าเดิม อาจเห็นสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP GROWTH ของไทยในระยะถัดไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังคาดหวังว่าจะเห็นนโยบายการเงินและการคลังจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น ผ่านการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 68 อีกราว 1-2 ครั้ง รวมถึงหวังพึ่งการใช้จ่ายภาครัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น

ไขข้อสงสัย_S2T.jpg