Talk of The Town

ตลาดหุ้นเจอแรงกดดัน หลังดีลการค้าสหรัฐฯ-เวียดนาม ทำไทยเสี่ยง! หากโดนภาษีนำเข้าเกิน 20%


03 กรกฎาคม 2568

ดีลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม อาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขัน หากเผชิญภาษีนำเข้าที่มากกว่า 20% จะทำให้เสียเปรียบการแข่งขันทั้งการส่งออกและนิคมอุตสาหกรรม ตลาดหุ้นไทยระยะสั้นจึงอาจเผชิญกับแรงกดดันจากประเด็นนี้

ตลาดหุ้นเจอแรงกดดัน_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเด็น สหรัฐฯประกาศทำข้อตกลงกับการค้าเวียดนาม โดยเวียดนามยอมชำระภาษีที่ 20% แลกกับสินค้าสหรัฐฯไปเวียดนามไม่มีกำแพงภาษี จึงต้องติดตามใกล้ชิดกับการเจรจาของไทยกับสหรัฐฯ หากเผชิญภาษีมากกว่า 20% อาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถเมื่อเทียบกับเวียดนาม

โดยเมื่อคืนทรัมป์ได้ประกาศ Deal การค้าระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามยินดีจะจ่ายภาษีนำเข้าให้กับสหรัฐฯในอัตรา 20% และ 40% สำหรับสินค้าที่ส่งต่อผ่านเวียดนาม แต่แลกกับการที่สหรัฐฯ สามารถส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามโดยที่ไม่มีกำแพงภาษี (Zero Tariff) 

ซึ่งทรัมป์ได้ระบุว่ารถยนต์ SUV ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ จะเป็นส่วนเสริมที่ยอดเยี่ยม เวียดนามถือเป็นประเทศที่ 3 ในการบรรลุการค้ากับสหรัฐฯ (ก่อนหน้ามีอังกฤษและจีน) ด้วยภาษีนำเข้าของเวียดนามที่นับว่าอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยสูง จะสร้างแรงกดดันต่อประเทศไทยต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น 

แม้ไทยกำลังอยู่ในช่วงเจรจาภาษีกับสหรัฐฯแต่หากไปดูหลายๆประเทศที่เข้าพูดคุยกับสหรัฐฯจะพบว่ามักมีการพูดคุยกันหลายรอบกว่าจะสำเร็จ 

ดังนั้นการเจรจาของไทยกับสหรัฐฯในคืนนี้ อาจมิสำเร็จทันทีและยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้วไทยจะเผชิญกับภาษีอัตราเท่าใด หากเผชิญภาษีนำเข้าที่มากกว่า 20% จะทำให้เสียเปรียบการแข่งขันทั้งการส่งออกและนิคมอุตสาหกรรม ตลาดหุ้นไทยระยะสั้นจึงอาจเผชิญกับแรงกดดันจากประเด็นนี้ เมื่อผสานกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมิแข็งแกร่ง 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ประเมิน SET เคลื่อนไหวในกรอบ 1,100 – 1,125 อาจเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจากภาษีเวียดนามที่ค่อนข้างต่ำ ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนอาจเลือกทำกำไรระยะสั้นเนื่องด้วยตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมาและเผชิญกับแรงกดดันจากภาษีเวียดนาม แต่หากปรับลงมายังมองเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะกลาง แต่เน้นที่หุ้นใหญ่พื้นฐานดี อาทิ CPN ค้าปลีก (BJC CPALL) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) โรงพยาบาล (BDMS)