Talk of The Town

โบรกฯ แนะเลี่ยง PTTEP เหตุราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลงหนัก ชี้รีบเก็บ 3 หุ้นโรงกลั่นรับต้นทุนลด


06 พฤษภาคม 2568

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกรณีที่ OPEC+ ยังคงการถอน voluntary production cuts ในระดับเดิมในเดือน มิ.ย.68 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.68 ที่ผ่านมา 

โบรกฯ แนะเลี่ยง PTTEP_S2T (เว็บ) copy_0.jpg

โดยที่ประชุมออนไลน์ของประเทศสมาชิก OPEC+ 8 ประเทศ (รวมถึง ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) คูเวต คาซัคสถาน แอลจีเรีย และโอมาน) มีมุมมองว่าพื้นฐานตลาดในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจึงได้ตกลงที่จะคงการถอนการลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ (voluntary production cuts) ในเดือน มิ.ย.68 ที่ 411 พันบาร์เรลต่อวัน (kbd) เท่ากับระดับในเดือน พ.ค.68 (สะท้อนการเพิ่มการผลิตใกล้เคียง 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mbd) ในเดือน เม.ย.68-มิ.ย.68) โดยยังคงมีเงื่อนไขว่าการปรับเพิ่มรายเดือนสามารถที่จะหยุดหรือกลับรายการได้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงสู่ในระดับที่เห็นล่าสุดในปี 64 ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.68 ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ได้ปรับตัวลดลง 3.1% เป็น 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่เห็นล่าสุดในช่วงเดือน เม.ย.64 สะท้อนภาพรวมตลาดน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในภาวะอุปทานล้นตลาด (oversupply) มากขึ้นสอดคล้องกับมุมมองของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (US EIA) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในขณะที่กลุ่มโอเปค (OPEC) ยังคงคาดว่าอุปสงค์จะเติบโตเร็วกว่าอุปทานในปี 68

อย่างไรก็ตาม OPEC+ อาจเปลี่ยนนโยบายเพื่อลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จากการประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่องของ OPEC+ สะท้อนให้เห็นว่า OPEC+ (โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย) อาจมีการเปลี่ยนนโยบายเพื่อลงโทษประเทศสมาชิกที่มีการผลิตน้ำมันที่เกินโควตา (overproduction) เช่น อิรักและคาซัคสถาน

หาก OPEC+ มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่องที่ระดับล่าสุดต่อไปจะทำให้ OPEC+ จะถอน voluntary production cuts ทั้งหมด 2.2 mbd ได้ภายในสิ้นเดือน ต.ค.68 (จากแผนเดิมใน ก.ย.2026) (ที่มา: OPEC, Reuters)

โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นลบต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นแต่ downside เริ่มจำกัดแล้ว โดยมองว่าการเพิ่มอุปทานน้ำมันที่เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มน้ำมันในระยะสั้น 

ทั้งนี้ ยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยปีนี้ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ ราคาเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ที่ 73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี เชื่อว่าระดับราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจจะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูงใน US ขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันตามนโยบายของประธานาธิบดี US ได้

ดังนั้นยังคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” สำหรับกลุ่มพลังงาน และคาดหุ้นน้ำมันได้รับปัจจัยกดดันจากอุปทานที่เป็นไปได้ที่สูงขึ้น สำหรับภาพระยะสั้น-กลาง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำอย่าง PTTEP (ซื้อ/เป้า 130.00 บาท) แม้ยังคงคาดอัตราตอบแทนเงินปันผลที่เป็นไปได้ที่แข็งแกร่งอยู่ 

อย่างไรก็ดี มองว่าหุ้นกลุ่มโรงกลั่นอาจจะกลับมาเริ่มน่าสนใจจากต้นทุนน้ำมันดิบที่ต่ำลงในขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและราคาน้ำมันดิบ (crack spread) เริ่มฟื้นตัวจากระดับที่ต่ำของปีนี้แล้ว โดยคำแนะนำสำหรับหุ้นโรงกลั่นที่เราดูแลอยู่ คือ SPRC (ซื้อ/เป้า 6.50 บาท), TOP (ซื้อ/เป้า 36.00 บาท), และ BCP (ถือ/เป้า 34.00 บาท)