รายงานพิเศษ : PREB กำลังได้ประโยชน์ เมื่อรัฐเดินหน้ากระตุ้นอสังหาฯ หวังหนุนยอดโอน ดันยอดขาย
คลังเร่งฟื้นความเชื่อมั่นตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังออกมาตรการกระตุ้นยอดโอนและยอดขาย หนุนผลงาน บมจ.พรีบิลท์ (PREB) ฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง รับอานิสงส์เติบโตสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน
กระทรวงการคลัง กำลังเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดูแลภาคธุรกิจอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาวะที่สูญเสียความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประกาศใช้แล้ว 2 มาตรการ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ มาตรการ LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยพบว่า หากมีการใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาเพียง 1 มาตรการ จะมีผลต่อซัพพลายในอุตสาหกรรม ที่ 16.8% ถ้าหากไม่มีมาตรการ จะมีผล -0.8% และถ้าใช้ 2 มาตรการ จะมีผล 22.6%
ขณะที่ในส่วนของดีมานด์ โดยเฉพาะในเรื่องหน่วยของการโอน หากใช้ 1 มาตรการ จะมีผล 1.6% แต่ถ้าไม่มีมาตรการเลย จะ -3.5% แต่ถ้ามีการใช้ 2 มาตรการพร้อมกัน จะมีผล 9.7% จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่า 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หากมาพร้อมกันจะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
ส่วนนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รับว่า สถานการณ์การโอนที่อยู่อาศัย และคอนโดมิเนียม เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว โดยมียอดโอนเฉลี่ยใกล้เคียงสถานการณ์ปกติที่ 400 ราย/วัน หลังจากธนาคารและผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม ร่วมมือกันเร่งสร้างความเชื่อมั่นตรวจรับรองว่าโครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น และกลับมาโอนเป็นปกติ
"ประเมินว่าปัจจัยแผ่นดินไหว น่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้น ไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้นน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ธอส. ได้เร่งประสานกับผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯ ของไทย โดยยืนยันว่าธนาคารพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่"
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างสูง ดังนี้
-
ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% จากปกติ 2%
-
ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน เหลือ 0.01% จากปกติ 1% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
- อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว
- ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
โดยมาตรการนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2568 ถึง 30 มิ.ย.2569
สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยาแรงในการกระตุ้นจากทั้ง 2 มาตรการ น่าจะปรับตัวดีขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านแนวราบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในตลาด รวมทั้ง บมจ.พรีบิลท์ (PREB) ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง
โดยนายวิโรจน์ เจริญตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PREB เชื่อว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) 9,200 ล้านบาท ซึ่งในส่วนงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ยังมีทิศทางที่จะเติบโตได้ดี ขณะที่ส่วนงานธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น โดยพบว่าบริษัทขนาดเล็กมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง
ในส่วนงานด้านการผลิตและจำหน่ายแผ่นพื้นสำเร็จรูป ส่วนงาน GRC น่าจะมีผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นจากปีก่อน จากการเจาะกลุ่มเป้าหมายให้หลากหลายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ เดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ เช่น โครงการ Premio Unic เอกมัย - ลาดพร้าว, โครงการ Premium Place พหลโยธิน - สุขาภิบาล 5, โครงการ Reseo Home เพชรเกษม 110, โครงการ Eigen พระราม 9 และโครงการ Eigen พระราม 2 โดยทั้งหมดคาดว่าจะมียอดโอนรวมกันภายในปี 2568 ประมาณ 1,079 ล้านบาท (บริษัทฯ จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการลงทุน) ซึ่งทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่า จะรักษาการเติบโตได้อย่างมั่นคง และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว