ในปี 2568 ถือเป็นหนึ่งปีที่ประเด็นอย่างสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีนเข้ามามีบทบาทหรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง ไม่เว้นแม้ประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลกระทบจะมากน้อยเพียงใดนั้น ทางสำนักข่าว Share2Trade จึงได้ทำการหยิบมุมมองจาก5 ผู้บริหารของธนาคารมาฝากกันในครั้งนี้
โดยเริ่มกันที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ได้ให้มุมมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/68 ขยายตัวในกรอบจำกัด แม้การส่งออกสินค้าจะขยายตัวสูงจากผลของการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนกลับไม่ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง การแข่งขันสูง และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับในปี 2568 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าปีก่อน โดยนอกจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงปลายเดือนมีนาคมจะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างแล้ว การปรับขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ
ซึ่งความตึงเครียดของสงครามการค้าจากการปรับขึ้นของภาษีตอบโต้นับเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่มาตรการของภาครัฐอาจช่วยประคองเศรษฐกิจได้เพียงบางส่วน เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศยังถูกกดดันจากฐานะทางการเงินที่เปราะบางและภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่าปีนี้เริ่มต้นด้วยความท้าทายที่สำคัญ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและความไม่แน่นอนอย่างสูงจากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ บริษัทได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างทันท่วงที เช่น การพักชำระหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบ และคาดว่าผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่ม SCBX มีในวงจำกัด
สำหรับความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ นั้น บริษัทประเมินว่าจะทำให้ GDP ของประเทศปีนี้ลดลงเหลือ 1.5% และมีโอกาสทวีความรุนแรงมากกว่าคาดได้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมเชิงรุก โดยติดตามสถานการณ์ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม
ต่อมา นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีความท้าทายรอบด้านที่รุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระลอกใหม่ที่ยกระดับขึ้น หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกรวมทั้งไทยกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก และได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ธุรกิจ SME มีข้อจำกัดในการปรับตัว รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งมีแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคที่จะมีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตตามเป้าหมายเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการดำเนินงานและการลงทุน สะท้อนคุณภาพการเติบโตในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในภาคการผลิต รวมถึงปัญหาการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังไทย ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี