Wealth Sharing

BAY ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น-บ.ข้ามชาติโต 7% เน้นอุตฯยานยนต์-อสังหาริมทรัพย์-เหล็ก


29 เมษายน 2567
BAY ตั้งเป้าสินเชื่อกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติปีนี้โต 7%  เน้นสินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ รองรับต่างชาติย้ายฐานมาไทย

BAYตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อ copy.jpg

นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารฯตั้งเป้าสินเชื่อธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน  จากการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ NPL ของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ยังอยู่ในระดับต่ำ และเชื่อว่าจะยังรักษาระดับต่ำต่อเนื่อง

โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ส่วนใหญ่เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อการขอสินเชื่อของลูกค้าโดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ หรือกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระมัดระวัง รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ดีปัจจัยบวกในประเทศ ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย
          
สำหรับพอร์ตสินเชื่อกลุ่ม JPC/MNC ปัจจุบันอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนจากธุรกิจญี่ปุ่น (JPC) 88% และ ธุรกิจบรรษัทข้ามชาติ (MNC) ประมาณ 12% 
         
นายบุนเซอิ กล่าวว่าทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 กรุงศรียังคงสานต่อเป้าหมายในการเป็นธนาคารพันธมิตรที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดยมีมุมมองสำคัญในการดำเนินงาน 4 ด้านประกอบไปด้วย
          
1. เร่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (ESG Ecosystem) ให้กับสังคมไทย โดยอาศัยจุดแข็งในการมีความรู้ ความชำนาญในด้าน ESG ผ่านความร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า 
         
2. ต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โดยจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สปป. ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่เอื้อต่อสังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน โดยในปีนี้จะมีการจัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching อย่างต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในปีก่อน 
        
3.ขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) ด้วยพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี กรุงศรีจะใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกับ MUFG ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจจากกลุ่มประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนและขยายการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย
        
4.ยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK เชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสานพลังเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร และ MUFG ที่ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน 
        
"เราเชื่อมั่นว่าด้วยความสามารถอันโดดเด่นและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีจากการประสานพลังเครือข่ายของกรุงศรี ธนาคารพันธมิตร และ MUFG จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติสามารถคว้าโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีแห่งความยั่งยืน และสำคัญที่สุดคือช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนทางศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป" นายโอคุโบะ กล่าว
BAY