จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : นโยบาย Wellness & Medical Hub ของรัฐ ดันรายได้ SMD ปี 67 แตะ 1.8 พันลบ.


22 มีนาคม 2567

การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)  เป็น 1 ใน 8 ด้าน ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าประเทศไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค  หนุนความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและผลงาน SMD ปี 67 รายได้แตะ 1.8 พันล้านบาท

รายงานพิเศษ นโยบาย Wellness _ Medical Hub ของรัฐ.jpg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทย "IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง" ว่ารัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทย ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว สภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี โครงสร้างที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญ คือศักยภาพของคนไทย

โดยวิสัยทัศน์  1 ใน 8 ด้าน ของรัฐบาล ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)  ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก ด้วยเพราะระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งศาสตร์การดูแลสุขภาพแผนไทยที่มีชื่อเสียง บุคลากรที่มีคุณภาพ และ Service Mind ทั้งยังสามารถดูแลได้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยชรา และรักษาได้ทุกโรค ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นอีกจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 66 พบว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สร้างเม็ดเงินได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพของคนไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับไปเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ใช้ AI เชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัดด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งในขณะนี้นำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด และคาดว่าจะครบทุกจังหวัดในสิ้นปีนี้            

นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนแพทย์ และพยาบาล ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งจะพัฒนาคุณภาพ ยกระดับชีวิตบุคลากรให้ดีกว่าเดิม และจะผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปาแผนไทย สมุนไพร รวมทั้งจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทำใบรับรองประกาศนียบัตร และผลักดันให้ไปเปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศ

การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพของรัฐบาล จะต้องมีการสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่ดี  ซึ่งการมีเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย จะทำให้การรักษาคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

สอดคล้องกับการทำธุรกิจของบมจ.เซนต์เมด (SMD)  ซึ่ง “วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปี 67 ที่ 1.8 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 833.83 ล้านบาท  มาจากธุรกิจหลักที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำเข้าจากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลในประเทศและบุคคลทั่วไป คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาราว 1 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่ง ที่เป็นธุรกิจ New S-curve ของ SMD ที่เสริมเข้ามา ได้แก่ บริษัท เสิร์ฟเฮลธ์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ให้บริการเครื่องมือทางการแพทย์ ภายใต้แบรนด์ SMDX ซึ่งคาดว่าปี 67 จะมีรายได้ 600 ล้านบาท และบริษัท เอสเอ็มดีไอ จำกัด (SMDI) ประกอบธุรกิจธุรกิจ "รังสีวิทยา" (Radiology) เพื่อการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ จะมีรายได้ 200 ล้านบาท  

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในปี 67 ยังเห็นความต้องการอย่างต่อเนื่อง ผลจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ทำให้มีความต้องการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งชาวต่างชาติที่เริ่มเดินทางกลับเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคที่หายยากและซับซ้อนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้เช่าเครื่องมือแพทย์ สำหรับรักษาโรคซับซ้อนที่มีมูลค่าสูงกับโรงพยาบาล 

ขณะที่ทางประกันสังคมเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน กรณีการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) ให้แก่สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน โดยสามารถเบิกค่าตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาได้ตามอัตรากำหนด ส่งผลให้สินค้าที่บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายมีความต้องการใช้งานสูงขึ้น โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 67 ซึ่งหนุนต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท

SMD