Talk of The Town

บจ.ผนึกกำลังต่อยอดธุรกิจ รับมือศก.ชะลอ


07 กุมภาพันธ์ 2567

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว จะเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ใช้กลยุทธ์การจับมือพันธมิตร โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย รวมทั้งผนึกกำลังกับบริษัททั้งในและต่างประเทศ เพื่อรุกขยายในธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเป็นแรงต้านให้ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ไปให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย

เปิด 7 บจ.ลุยจับมือพันธมิตร copy_0.jpg

จากการรวบข้อมูลบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ต้นปี พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศจับมือกับพันมิตรเพื่อต่อยอดและแตกไลน์ธุรกิจต่างๆหวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ในอนาคต มีจำนวน 7 แห่ง ดังนี้

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่าบริษัทได้จับมือกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ส่งจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) สร้างบริการขนส่งด้วยพลังงานสะอาดให้บริการผู้โดยสารบีทีเอสเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้าตลอดเส้นทาง

โดยวินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากฯ ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ โดยการให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ขณะที่วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

สำหรับวินโนหนี้ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 ราย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่120 แห่ง ณ สิ้นปี 66 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 73 เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลกผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ดีต่อเราและต่อโลก

อนึ่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจากและบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่าบริษัทฯมุ่งมั่นในการสนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน ด้วยการผนึกกำลังกับกลุ่ม ปตท. ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจของทั้งสองฝ่ายที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนและสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นให้แก่โลกใบนี้ เนื่องจากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในฐานะองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

AWC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้นำทางด้านพลังงานสะอาดและธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (EV Value Chain) ในการเปิดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ on-ion ภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์เครือ AWC ครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวสำคัญกว่า 17 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยจะเริ่มทยอยเปิดจุดชาร์จแรกในไตรมาส 2 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ AWC ในการลงทุนด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งอนาคต และอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เดินทางท่องเที่ยวอย่างไร้กังวลเรื่องที่ชาร์จ มอบประสบการณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนครบทุกมิติ”

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า จากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ลงนามในขอบเขตความร่วมมือ (Term of Collaboration) ระดับรัฐในโครงการศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน (Northern Gulf of Thailand CCS Exploration project) กับ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น

ปตท.สผ. ในฐานะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ของประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาร่วมกับ บริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (INPEX CORPORATION) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากการศึกษาประสบผลสำเร็จ ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ของประเทศไทย

“ปตท.สผ. มีความยินดีที่จะได้นำความรู้ด้านธรณีวิทยา ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย และจากการศึกษาโครงการ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ มาทำงานร่วมกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ CCS มาแล้วในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ CCS โดยเฉพาะในรูปแบบ CCS Hub ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ”

บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ได้บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทย่อยของ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ทั้งหมด 3 รายการ ประกอบด้วย การเข้าร่วมทุนในโครงการพัฒนาโรงแรม กับ บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) หรือ ONEO   โดย ONEO และ PS ถือหุ้นฝ่ายละ 50%การเข้าร่วมทุนในโครงการพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับบน กับ บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด (PARK) ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวสูง สำหรับโครงการคอนโดมิเนียม โดย PARK และ PS ถือหุ้นฝ่ายละ 50% และ การร่วมทุนในโครงการพัฒนาบ้านเดี่ยว กับ บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ โครงการบ้านเดี่ยว โดย BRI และ PS ถือหุ้นฝ่ายละ 50%

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทได้ดำเนินการจัดตั้ง บริษัท คาร์แมน ไลน์ สตูดิโอ จำกัด (KML)ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture)ร่วมกับ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (THB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK เรียบร้อยแล้ว โดย MAJOR ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 และ THB ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้เงินลงทุนของ MAJOR และ THB จะอยู่ภายในวงเงินฝ่ายละไม่เกิน 55 ล้านบาท โดยแต่ละฝ่ายได้ชำระเงินลงทุนแล้ว 25 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและลงทุนในภาพยนตร์

บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเข้าถือหุ้นใน บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY เพื่อร่วมมือกันต่อยอดธุรกิจร่วมกัน โดย DITTO เข้าไปถือหุ้น 24.9% ใน NETBAY ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าการเข้าถือหุ้นในครั้งนี้จะทำให้รายได้จะเติบโตเพิ่มจากเดิมราว 30%

“DITTO จะนำเอาโซลูชั่น NETBAY มาต่อยอดลูกค้าภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งจะนำโปรดักส์ของ NETBAY มาบุกตลาดองค์กรท้องถิ่นคู่ไปกับโปรดักส์ของ DITTO หรือใช้ในโครงการ Smart Zoo หรือ ทำแพล็ตฟอร์มเกี่ยวกับ ESG ไม่เฉพาะ NETBAY เท่านั้น แต่จะร่วมมือกับทุกรายที่ร่วมเป็นพันธมิตร”

สำหรับกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมกันครั้งนี้ ประกอบด้วย DITTO, NETBAY ,บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ,บริษัท ไซเท็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SITEM) , บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) และ โสมาภา อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (SOMAPA)

บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ไพศาล แคปปิตอล จำกัด โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท ไพศาล แคปปิตอล จำกัด จำนวน 50,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 33.33 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของไพศาล มูลค่าลงทุน 825,000,000 บาท เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง

รวมทั้ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท  เข้าร่วมลงทุนใน บริษัท ไทยไพบูลย์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ("ไทยไพบูลย์") โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของไทยไพบูลย์ในครั้งแรกเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 (สิบ) ของหุ้นทั้งหมดของไทยไพบูลย์ภายหลังการเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 103,000,000 บาท ภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยแหล่งที่มาของเงินทุนมาจากเงินทุนหมุนเวียนภายในของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทจะมีสิทธิเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของไทยไพบูลย์ เพื่อให้บริษัทถือหุ้นในไทยไพบูลย์ไม่เกินกว่าร้อยละ 33.33 (สามสิบสามจุดสามสาม) ของหุ้นทั้งหมดของไทยไพบูลย์ โดยมีประมาณการมูลค่าการลงทุนตลอดโครงการทั้งสิ้น 400,000,000 บาท (สี่ร้อยล้านบาทถ้วน) โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของไทยไพบูลย์ ซึ่งการลงทุนจะเกิดขึ้นเป็นคราว ๆ

ทั้งนี้ ไม่เกินภายในเดือนพฤษภาคม 2567 และจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเรียบร้อยแล้วไทยไพบูลย์เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงขยะ การบริหารจัดการขยะ การออกแบบระบบผลิต ติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการบริหารจัดการขยะ และการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการบริหารจัดการขยะ

โดยการเข้าซื้อหุ้นของไพบูลย์มีวัตถุประสงค์เพื่อการต่อยอด และขยายธุรกิจบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า และลดการใช้ทรัพยากรที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนการเติบโต

426501471_793469782824027_1233665436727806755_n.jpg