Smart Investment

“สุระ คณิตทวีกุล” ถือหุ้น CMO ต่ำสุด 2 ปี หลังถูกสั่งตรวจสอบบัญชีกรณีพิเศษ


13 ธันวาคม 2566

by.พูเมซ่า 

smart invest สุระ คณิตทวีกุล รินขายหุ้น CMO.jpg

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยส่งท้ายปี 2566  ดัชนียังคงผันผวนแรง โดยในครึ่งแรกของเดือนธันวาคม ดัชนีปรับลดลง 0.45%ซึ่งดัชนียังคงยืนต่ำกว่าระดับ 1,400 จุด ขณะที่บล.เอเซียพลัส ระบุว่า SET INDEX ขึ้นไม่ไหวการประชุม ครม.มี 3 ประเด็นที่รอได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำ , อัตราค่าไฟฟ้ารอบใหม่ และ EASY E-RECEIPT ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่มีแรงกดดันในกลุ่ม สถาบันการเงินจากความกังวลเรื่องนโยบายแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาล ภาวะดังกล่าวทำให้ SET INDEX วานนี้ ปรับตัวลดลงต่อ จนเริ่มถูกมองว่าตลาดหุ้นบ้านเราเข้าสู่ BEAR MARKET ประเมินทิศทางในช่วงสั้น เห็นว่าตลาดหุ้นบ้านเรา อยู่ในสภาวะที่ขึ้นได้ยาก ปัจจัยหลักมาจาก TURNOVER ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก (ด้วยขนาด MARKET CAP ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายควรอยู่ที่ประมาณ 4.9 – 5 หมื่นล้าบบาท/วัน) ซึ่งภาวะดังกล่าวท่าให้สัดส่วนของมูลค่าการทำ SHORT SELL และการซื้อขายผ่าน PROGRAM TRADE สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญหากมองในภาพของการซื้อ-ขายสุทธิ ยังพบว่ามีเงินไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง

SET INDEX อยู่ในภาวะที่ปรับตัวขึ้นได้ยาก และดูเหมือนจะผันผวนได้ง่ายขึ้นหาก มูลค่าการซื้อ-ขาย ไม่กลับมา SET INDEX วันนี้คาดอยู่ในกรอบ 1366 – 1377 จุด หุ้น TOP PICK เลือก CPN, TISCO และ SIRI

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในส่วนการปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ล่าสุด ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการถือครองของ “สุระ คณิตทวีกุล”ได้มีการลดสัดส่วนลง ล่าสุดถือครองจำนวน 8,261,000 หุ้นคิดเป็น 2.94% หากนำไปเปรียบเทียบกับการถือครองหุ้นในครั้งก่อนถือครองจำนวน 12,625,500 หุ้นคิดเป็น 4.49%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการถือครองหุ้นCMO ของ “สุระ คณิตทวีกุล” ซึ่งได้เข้ามาลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2565  จะเห็นว่า จำนวนการถือครองหุ้นครั้งล่าสุด มีสัดส่วนที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

ช่วงเวลา

จำนวนถือ(หุ้น)

%การถือครอง

28/11/66  

8.26

2.94

30/05/66  

12.62

4.49

17/03/66

15.65

5.57

11/10/65

9.98

3.56

10/3/65

10

3.95

3/2/65

9.83

3.85

 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของCMO ล่าสุด ณ 28 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย

รายชื่อ

จำนวน(หุ้น)

%การถือหุ้น 

 กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์

64,031,809

22.79

ฟ้าใส พัวถาวรสกุล

25,272,800

9

กิตติ พัวถาวรสกุล

12,236,176

4.36

 ไทยเอ็นวีดีอาร์ 

10,884,183

3.87

 ธนภัทร นิสิตสุขเจริญ

10,250,000

3.65

สุระ คณิตทวีกุล

8,261,000

2.94

 ณิชา ชัยศิลป์วัฒนา

8,000,000

2.85

วริศ ยงสกุล

6,376,800

2.27

 เสริมคุณ คุณาวงศ์

6,183,799

2.2

 ฐกูร เวชพาณิชย์

4,519,700

1.61

 

ขณะที่การเคลื่อนไหวราคาหุ้นCMO ในรอบเดือนธันวาคม 2566 ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3.23%จากราคา 0.93 บาท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.96 บาท เคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 1.07 บาท และต่ำสุดที่ 0.94 บาท

ทั้งนี้ที่ผ่านมา CMO ได้ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน)(CMO) ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ภายในวันที่ 3 มกราคม 2567 

โดยเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP, NP หลักทรัพย์ของ บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) กรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2566

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ของ CMO ถูกขึ้นเครื่องหมาย C และ NP จนกว่าบริษัทจะส่ง Special Audit ตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต.

ขณะที่ CMO ชี้แจงว่า ตามที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ไตรมาสที่ 3/2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยได้ระบุเกณฑ์ในการไม่แสดงความเห็น ดังต่อไปนี้

ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง

  1. กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับงวดสามเดือนและเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวน 48.7 ล้านบาท และจำนวน 191.7 ล้านบาท ตามลำดับ (เฉพาะบริษัทฯ 72.7 ล้านบาท และ 257.9 ล้านบาทตามลำดับ) และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กลุ่มบริษัทมีขาดทุนสะสม จำนวน 461.7 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ 405 ล้านบาท) และมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 274.3 ล้านบาท โดยหนี้สินหมุนเวียนดังกล่าวได้รวมถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปีจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งภายหลังได้มีมติจากการประชุมผู้ถือกู้หุ้นให้ขยายเวลาชำระคืนออกไปอีก 2 ปี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2566 มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯจำนวนเงิน 78 ล้านบาทเพื่อจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัดจำนวนไม่เกิน 78 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นตามราคาตลาดในวันที่เสนอขายแต่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของราคาตลาด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2566 ได้อนุมัติยกเลิกการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลดังกล่าว โดยลดทุนจดทะเบียนจำนวน 78 ล้านบาทสำหรับหุ้นสามัญที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 78,000,000 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และได้อนุมติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 280,962,733 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) อัตราส่วนการจัดสรร 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขาย 0.70 บาทต่อหุ้น

 

  1. กลุ่มบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและคดีความรวม 6 คดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรมซึ่งอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของกลุ่มบริษัท ปัจจุบันคดีความดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลและผลของคดีความอยู่กับกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ถึงแม้กลุ่มบริษัทกำลังดำเนินมาตรการแก้ไขในเรื่องระดับของกระแสเงินสดก็ตาม แต่สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ยังคงแสดงให้เห็นว่ามีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท

บริษัทฯชี้แจงว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ ไตรมาสที่ 3/2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร แต่เกิดจากความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีมาตรการในการรักษาระดับของกระแสเงินสดสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงาน โดยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาขอขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติให้ขยายเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป 2 ปี

นอกจากนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแผนทางธุรกิจเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และกลับมาอยู่ในสถานะที่ทำกำไรได้อีกครั้งในอนาคตเพื่อที่จะสามารถชำระหุ้นกู้ได้ตามวันครบกำหนดใหม่ และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2566 ได้อนุมติเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ยืม รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทและเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ต่อมา บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) แจ้งว่า นายอริยะ พนมยงค์ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้น ทั้งนี้การลาออกของประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ตามที่ ก.ล.ต. สั่งการให้ CMO จัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) โดยให้นำส่งรายงานผลการตรวจสอบภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566* ต่อมา CMO มีหนังสือขอขยายระยะเวลาเพิ่มเติมเป็นภายในวันที่ 3 มกราคม 2567 เนื่องจากผู้สอบบัญชีรายบริษัทสำนักงาน อีวาย จำกัดซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ

ก.ล.ต. จึงสั่งการให้นำส่งรายงานดังกล่าวภายในวันที่ 3 มกราคม 2567 ตามที่ขอขยายระยะเวลาเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้ CMO เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

 

CMO