Wealth Sharing

SCB CIO คาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้กว่า 1.3 ล้านลบ. แนะผู้ลงทุนใช้ 4 ปัจจัยสแกนหุ้นกู้เสริมภูมิคุ้มกัน


10 กรกฎาคม 2566
SCB CIO คาดปีนี้ภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3ล้านล้านบาท หลังดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน แนะใช้ 4 ปัจจัยหลักพิจารณาหุ้นกู้ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

SCB CIO คาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้กว่า 1.3 ล้านลบ.jpg

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  ในปีนี้คาดว่าภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้รวมไม่ต่ำกว่า1.3 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจากปี2565 ที่มีการออกหุ้นกู้รวมมากกว่า1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจาก แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น  ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งออกหุ้นกู้เพื่อล็อคต้นทุนทางการเงิน  

จากกระแสข่าวที่มีผู้ออกหุ้นกู้บางรายผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ลงทุนกังวลใจ SCB CIO จึงขอแนะนำหลักในการพิจารณาหุ้นกู้ก่อนตัดสินใจลงทุน  โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้ 
1) การพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้  จะต้องดำเนินการโดยสถาบันจัดอันดับความเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 
2)การเลือกประเภทของหุ้นกู้  โดยหุ้นกู้แต่ละประเภทมีความเสี่ยงและลำดับการได้รับชำระหนี้คืนแตกต่างกัน ดังนี้   1)หุ้นกู้ที่มีหลักประกัน (Secured Bond) เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย  2)หุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecure Bond) มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน 3)หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ มีสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสารเท่าเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น และสูงกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และ 4)หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) เมื่อผู้ออกหุ้นกู้เลิกกิจการหรือล้มละลาย จะได้รับสิทธิชำระหนี้คืนอันดับหลังจากผู้ถือหุ้นกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงเจ้าหนี้สามัญประเภทอื่น แต่ก็ยังได้รับสิทธิชำระคืนเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ 

สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Senior Unsecured Bond) โดยมีหุ้นกู้ Perpetual Bond ที่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ที่มีหลักประกันอยู่บ้างสำหรับบริษัทที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต แม้หุ้นกู้จะมีหลักประกัน แนะนำให้พิจารณาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันเพิ่มเติม เช่น ที่ดิน และหุ้น  ควรพิจารณาว่ามูลค่าครอบคลุมมูลค่าหุ้นกู้หรือไม่ หากค้ำประกันโดยบุคคลต้องพิจารณาความมั่งคั่งของผู้ค้ำประกัน  ในทำนองเดียวกันหากใช้ลูกหนี้การค้าค้ำประกัน ต้องพิจารณามูลค่าลูกหนี้การค้า คัดเฉพาะลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน  
 
3 )บรรษัทภิบาลของผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการไปลงทุนในบริษัทที่ตกแต่งงบการเงินหรือมีการทุจริตภายใน 
4)การวิเคราะห์งบการเงินในเบื้องต้น ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน 

“เราแนะนำให้ผู้ลงทุน กระจายความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ ทั้งด้านอันดับความน่าเชื่อถือ และประเภทหุ้นกู้ หากรับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้เลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับบน เช่น AA ขึ้นไปจนถึง AAA  แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง อาจลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ที่นำเสนอผลตอบแทนสูงๆ ได้ แต่ควรพยายามกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหุ้นกู้หลายรุ่น หลายบริษัท ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละตัวไม่สูง เพื่อให้เงินลงทุนในหุ้นกู้ High Yield มีสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนโดยรวม หรืออาจกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการแทน” นายศรชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน หากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ อาจกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อช่วยให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีความสมดุลมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศอย่างเดียว โดยปัจจุบัน มีกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นกู้ในต่างประเทศจำนวนมาก และอาจมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในไทยด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยในต่างประเทศปรับขึ้นมามาก และอยู่ในระดับสูงกว่าไทย โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนระยะสั้นๆ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรับในระดับ 5%
SCB