จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : ผลงาน TEGH ปี 66 แข็งแกร่ง “ยางพารา-น้ำมันปาล์ม-พลังงานทดแทน” โตเด่น


27 เมษายน 2566
สถานการณ์ยางพาราและน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม รวมทั้งพลังงานทดแทนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง  หนุนผลงาน บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ปี 2566 เติบโตแตะ 2 หลัก 

รายงานพิเศษ TEGH.jpg

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ.66 ในส่วนของน้ำมันปาล์ม ขยายตัว 44.57%  จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยในปีนี้มีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงมีการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของประเทศคู่ค้า เช่น อินเดีย จีน เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมยางพารา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน ปรับตัวดีขึ้น นำโดยภาคใต้ ดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 83.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่า ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศคู่ค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา และในส่วนของพลังงานทดแทนก็มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมาย  

ยังตอกย้ำจาก มุมมองของผู้บริหาร  “สินีนุช โกกนุทาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ  TEGH   ที่ระบุว่า ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนมีรายได้รวม 15,460 ล้านบาท  เป็นไปตามการขยายตัวของ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์   ส่งผลทำให้เป้าหมายรายได้ที่คาดจะเติบโตแตะ 22,000 ล้านบาท ในปี 69 น่าจะทำได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้
          
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ คาดปริมาณการขายเติบโต 10% เนื่องจากในปี 66-67 บริษัทฯ มีแผนขยายกำลังการผลิตยางแท่งรวม 110,000 ตัน แบ่งเป็นปีนี้จะขยายประมาณ 75,000 ตัน และปี 67 จะขยายกำลังการผลิตอีกประมาณ 35,000 ตัน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของยางแท่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 320,000 ตันต่อปี เป็น 430,000 ตันต่อปี
          
ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายปาล์มน้ำมัน คาดปริมาณการขายปาล์มน้ำมันโต 10% และน้ำมันเมล็ดในปาล์มโตราว 30-40% จากการปรับประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มความสามารถในการรับผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
          
ธุรกิจพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ในปี 66 คาดจะเติบโตขึ้น 40% จากโครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2/66 ทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับปริมาณกากอินทรีย์ได้ได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 300 ตัน รวมเป็นความสามารถในการรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ทั้งหมด 720,000 ตันต่อปี และผลิตก๊าซชีวภาพได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้มีกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพรวมเป็น 34 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 
          
อย่างไรก็ตามในไตรมาส 2/66 บริษัทฯ เตรียมประกาศการลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับลูกค้ารายใหญ่ ในการซื้อขายไบโอแก๊ส ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงการเพิ่มมาตรฐานตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานหลายด้าน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และลูกค้ากลุ่มยุโรป เป็นต้น
         
บริษัทฯ ยังได้วางงบลงทุนในช่วง 66-69 ไว้ที่ 1,400 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้จะใช้งบราว 600-700 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิต จากธุรกิจหลัก (Organic Growth) และการร่วมทุนด้วยการดึงลูกค้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) รวมถึงการต่อยอดกำลังการผลิตทุกภาคส่วน
          
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 มีโอกาสจะออกมาดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 ตามแผนงานที่วางไว้ แม้ว่าราคาขายยางจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ทุกธุรกิจยังมีการขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะในส่วนของยางพารา ที่มีปริมาณการขายมากขึ้น ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อ(Order) ยาวไปถึงเดือน ก.ค.66  
          
บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตยางแท่งที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รายแรกของประเทศไทย โดยในปีนี้จะเริ่มมีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต หลังนำโครงการผลิตพลังงานทดแทนไปขึ้นทะเบียนขอใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่เนเธอร์แลนด์ คาดภายในสิ้นปีนี้จะได้รับใบรับรองออกมา และเตรียมยื่นขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ในปีนี้ โดยเบื้องต้นจะทำการซื้อ-ขายภายในกลุ่ม TEGH ก่อน

ด้านบล.หยวนต้า วิเคราะห์หุ้นโดยระบุว่า  มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการในปี 2566 ที่คาดจะทำระดับสูงสุดใหม่ได้ต่อจากธุรกิจยางธรรมชาติที่คาดจะเติบโตต่อเนื่องตามแผนการขยายกำลังการผลิตของบริษัทและ Demand ในตลาดโลกที่มากขึ้นหลังจีนเปิดประเทศ, ธุรกิจ CPO ที่พลิกกลับมามีกำไร หลังจากบริษัทปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริหารรับซื้อทะลายปาล์มได้ดีขึ้น

โดยราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER66 ต่ำเพียง 6.1 เท่า  คงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่  7.20 บาท  มี Upside gain 38.5%  มองว่า  ณ ระดับราคาปัจจุบันที่ยังอยู่ในโซนถูกและสะท้อนผลประกอบการที่ชะลอQoQ ใน 4Q65 แล้วคงคำแนะนำ ซื้อ และยังมีเงินปันผลจ่าย ซึ่งจะช่วยจำกัด Downside risk ในระยะสั้น