จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหนุนผลงาน SSP เติบโตแข็งแกร่ง


18 เมษายน 2566
การชนะประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 170.5 MW ของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) หนุนผลงานเติบโตต่อเนื่อง สร้างสถิติสูงสุดใหม่ ขณะที่บล .ฟินันเซีย แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10.8 บาท
รายงานพิเศษ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หนุน.jpg
การประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นับเป็นข่าวดีให้กับบริษัทผู้ผลิตพลังงานสะอาดของไทย  ซึ่งนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ระบุว่า บริษัทชนะประมูลในโครงการ FiT  รวม 170.5 เมกะวัตต์   แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 โครงการ กำลังผลิตตามสัญญารวม 154.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ กำลังผลิตตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์  ทำให้มั่นใจว่า  แผนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้
          
นอกจากนี้บริษัทกำลังศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามที่กกพ.ได้ประกาศออกมา ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ เพื่อขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดประเภทอื่นๆ 
          
ส่วนแนวโน้มรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเทียบปีที่ผ่านมา และความคืบหน้าในการลงทุนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัทลงทุน Sermsang Next Ventures เพื่อดำเนินธุรกิจใหม่ โดยเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่จะเติบโต ซึ่งจะช่วยสร้าง New S-curve สนับสนุนผลงานโตก้าวกระโดดในอนาคต 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มองหาโอกาสเพื่อเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้แก่ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน  ที่จะทำให้พอร์ตกำลังผลิตเติบโตแบบก้าวกระโดด
         
ปัจจุบันบริษัทฯมีฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า Renewable ทุกรูปแบบ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว 236 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายในอีก 3 ปี มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัวทะลุ 500 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานลม หรือ ชีวมวล เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

ขณะที่บล .ฟินันเซีย  วิเคราะห์หุ้น SSP ระบุว่า บริษัทคงแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมาย 10.8 บาท (SoTP) ราคาดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจำนวน 9% จากหุ้นปันผลจำนวน 124.89  ล้านหุ้นและ SSP-W2  คิดว่าราคาหุ้นของ SSP และระดับการประเมินมูลค่าน่าจะปรับขึ้นเป็น 12-15x ของค่า forward P/E โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกำไรที่แน่นอนและอยู่ในเกณฑ์สูง พอร์ตสินทรัพย์ที่มีการกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2023-25

ขณะเดียวกันการเติบโตใหม่น่าจะช่วยขจัดความกังวลเกี่ยวกับ EPS ที่อาจลดลง โดยเชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นของ SSP ปรับตัวลดลงแรงไปเมื่อไม่นานมานี้  เกิดจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจาก EPS ที่ลดลงและกำลังการผลิตที่โตจำกัด  สมมติฐานของบริษัทรวมหุ้นปันผล 9% ที่บริษัทฯ จะจ่ายในปี2023 การใช้สิทธิ์แปลงใบสำคัญ แสดงสิทธิ์ SSP-W2 เป็นหุ้น SSP เต็มจำนวนที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 และกำไรสุทธิที่จะลดลงจากการสิ้นสุดของค่า adder จำนวน 6.5 บาท/kWh ของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 52MW ในประเทศไทยในปี 2025  เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานดังกล่าว บริษัทคาดว่า EPS จะเพิ่มจาก 0.88 บาทในปี 2023 เป็น 1.02 บาทในปี 2024 แต่ลดลงเหลือ 0.86  บาทในปี 2025 

อย่างไรก็ดีบริษัทคิดว่า ความกังวลดังกล่าวจะได้รับการดูแลและแก้ไขได้ทั้งหมดในช่วงปี 2023-24 เมื่อคาดว่า SSP จะได้กำลังการผลิตใหม่ขนาด 0.2-0.3GW จากการประมูลพลังงานหมุนเวียนที่จะประกาศในเร็ววันนี้ในประเทศไทยพร้อมกำลังการผลิตใหม่อีก 0.2-0.3GW จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับที่ 8 (PDP8) ของเวียดนาม

กำไรปกติน่าจะโตดีต่อเนื่อง
บริษัทคาดว่ากำไรปกติรายปีจะโตดีต่อเนื่องในช่วงปี 2023-24 โดยได้ปัจจัยหนุนจาก 
1) ส่วนแบ่งเต็มปีจากหุ้น 25% ในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ Windchai (ซื้อมาในเดือน มี.ค. 22); 
2) ส่วนแบ่งจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ Leo2 ขนาด 17MW ในญี่ปุ่น  ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (COD) ใน 4Q24 นอกจากนี้ SSP ยังมีแนวโน้มที่จะได้กำลังการผลิตเพิ่มจากโรงไฟฟ้าพลังลมและแสงอาทิตย์จากการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาด  5.2GW และ 3.6GW ในประเทศไทยพร้อมกับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังลมและ LNG ที่อยู่ภายใต้ PDP8 ฉบับใหม่ของเวียดนาม
SSP