รายงานพิเศษ : SAFE รับอานิสงส์การรักษา ภาวะมีบุตรยากของโลกปี 68 โต 6.8% ดันผลงานปีนี้โตตามเป้าหมาย
ภาวะมีบุตรยากยังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมูลค่าตลาดโลกปีนี้แตะ2.2 หมื่นล้านดอลล์ เชื่อไทยได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2568 ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% จากปีก่อน มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางเติบโต นำโดยการบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility: IVF) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น
จากอัตราการเจริญพันธุ์ของโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากในปี 2513 ที่ผู้หญิง 1 คนมีบุตรจำนวน 4.8 คน เหลือเพียง 2.2 คน ในปี 2568 รวมถึงค่านิยมในการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คู่สมรสทั่วโลกมีบุตรช้าลง สะท้อนจากอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรกทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 28 ปี เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก สนับสนุนการเดินทางออกไปรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในต่างประเทศ (Fertility Tourism) ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 หรือราว 14% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก ทั้งนี้ การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น
สำหรับมูลค่าตลาดชาวไทยที่มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังเติบโตได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของหญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 2555 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น
อีกหนึ่งปัจจัยหนุนมูลค่าตลาดชาวไทย มาจากการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีผสมเทียม (IUI) เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สะท้อนจากช่วงหลังโควิดจำนวนรอบการรักษาด้วยวิธี IUI มีสัดส่วนลดลงจาก 31% ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือเพียง 28% ในปี 2568 เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบปกติ (IVF) ที่อัตราการเติบโตของรอบการรักษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.2% ต่อปี ขณะที่ การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแบบเฉพาะเจาะจง (ICSI) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี (CAGR ปี 2565-2568)
แนวโน้มการรักษาด้วย ICSI ที่โตขึ้นดังกล่าว สอดคล้องไปกับผู้ประกอบการในธุรกิจที่ระบุว่าระยะหลัง ภาวะมีบุตรยากที่พบในคู่สมรสชาวไทยมีความซับซ้อน และพบว่าเกิดในฝั่งเพศชายมากขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิตามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วย ICSI ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าวิธีอื่น ๆ หากผู้รักษามีภาวะข้างต้น
มูลค่าตลาดต่างชาติที่มีสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังเติบโตจากผู้รับบริการในกลุ่มประเทศจีน อินเดีย และอาเซียน ที่นิยมเดินทางเข้ามารักษาภาวะมีบุตรยากในไทยต่อเนื่อง แม้ปีนี้ลูกค้าหลักอย่างชาวจีนอาจชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง แต่ภาพรวมไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการ จาก Fertility Tourism ที่โดดเด่น
แนวโน้มที่คนต้องการมีบุตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนธุรกิจของบมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป (SAFE) โดย นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAFE คาดการเติบโตในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการนำเทคโนโลยี PGTSeqA มาใช้ดึงดูดลูกค้าจากทั้งในและต่างประเทศ และในปี 2569 เป็นปีมะเมีย หรือ ปีม้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปีมงคลที่คนต้องการมีบุตรมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนรอบของการเก็บไข่ และการฝังตัวอ่อนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มแข็งมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมชูจุดเด่นดึงดูดลูกค้าด้วยการตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนได้แม่นยำ ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น รวมถึงกลุ่มสมรสเท่าเทียม LGBT ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการอุ้มบุญ การย้ายตัวอ่อน ซึ่งอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. หากเรียบร้อยแล้ว จะเป็นปัจจัยบวกทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน และในปี 2568 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 15-20% เทียบปีที่ผ่านมา