จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TEGH เติบโตก้าวกระโดด ราคายางพุ่ง- ประกาศใช้เกณฑ์ EUDR ดัน บ.ย่อย “TEBP”เข้าตลาด mai


25 พฤษภาคม 2568
ปี2568 นับเป็นปีที่ดีของ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)  จากข่าวดีที่เข้ามาสนับสนุน ทั้งเรื่องราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้น  การประกาศใช้เกณฑ์ EUDR ของยุโรปในช่วงปลายปีนี้ และการนำบริษัทลูก TEBP ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai 

TEGH เติบโต_รายงานพิเศษ S2T (เว็บ)_0.jpg


บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) สัญญาณธุรกิจสดใส หลังนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกจะน้อยกว่าปริมาณการบริโภคเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันในปี 2568 เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นไม่สามารถกระตุ้นให้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม สามารถปลูกและผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นตามความต้องการได้ ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น

TEGH รับอานิสงส์ ราคายางพาราพุ่ง

ตามที่“เลกชมิ แนร์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.3% แตะระดับ 14.9 ล้านตัน ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เร่งตัวขึ้นถึง 1.8% หรือเพิ่มเป็น 15.6 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนถึงแนวโน้มภาวะขาดแคลนยางธรรมชาติต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ราคายาปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะตึงตัวของตลาดยางในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องในช่วง 7–8 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรชะลอการปลูกทดแทนและลดแรงจูงใจในการลงทุนปลูกใหม่ ขณะเดียวกัน เกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในภาพรวมขยายตัวในอัตราที่จำกัด
บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ และน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ในภาคตะวันออก และผู้นำด้านการผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์แบบครบวงจรรายใหญ่ในพื้นที่ EEC ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากราคายางปรับตัวสูงขึ้นในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ของไทย 


โชว์ผลงาน Q2/68รายได้โตทะลัก 50%

ในไตรมาส 1/2568 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ จำนวน 4,988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,660 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายยางแท่ง จำนวน 4,774 ล้านบาท และรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำยางข้น จำนวน 214 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 176 ล้านบาท

ตั้งเป้าขายยางแท่งปีนี้ 2.5-2.8 แสนตัน

TEGH เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจ สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติว่า ยังคงตั้งเป้าปริมาณขายยางแท่งในปีนี้อยู่ที่ 250,000-280,000 ตัน โดยยังคงสัดส่วนยอดขายยางแท่งมาตรฐาน EUDR ที่ร้อยละ 30-40 ในครึ่งปีแรก และมากกว่าร้อยละ 50 ในครึ่งปีหลัง เครื่องจักรผลิตยางแท่งไลน์ใหม่ที่แล้วเสร็จในปลายปีก่อน จะใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ในปีนี้ พร้อมพิจารณาขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม 

ส่วนสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบจะเทิร์นอะราวด์กลับมาได้ หลังจากติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ลูกใหม่ และหม้อนึ่งปาล์มต่อเนื่อง (Sterilizer) ที่ติดตั้งเสร็จแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น พร้อมดำเนินการทดสอบเครื่องจักรในช่วงผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดภายในไตรมาส 2 ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ภายในปีนี้ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าจากชีวมวลที่ใช้ผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิง จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของบริษัทในเครือลงได้ ส่วนสายธุรกิจพลังงานทดแทนและรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ ปีนี้จะรับรู้รายได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพโซน 3 เฟส 1 ได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 1/2568 พร้อมเดินหน้าโครงการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ โซน 3 เฟส 2 ต่อเนื่อง

ความต้องการใช้ยางพาราจากจีน-อินเดียล้น

ขณะเดียวกัน TEGH ได้รับผลกระทบในด้านบวก จากแนวโน้มความต้องการยางธรรมชาติในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของปริมาณการผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ปลูกและเพิ่มผลผลิตในประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ

แม้ปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก เช่น สาธารณรัฐไอวอรีโคสต์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการยางพาราที่ขยายตัวในระดับโลก อีกทั้งยังไม่สามารถทดแทนการลดลงของผลผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ภาวะการขาดแคลนยางพารายังคงเป็นความท้าทายในตลาดโลก และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคายางพาราทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป 

EUDR หนุนการเติบโตในครึ่งปีหลัง

สำหรับประกาศบังคับใช้กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation(EUDR) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เลื่อนการบังคับจากปี 2567 มาเป็นปลายปี 2568 นั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ราคายางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกสำหรับ TEGH ที่ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ด้วยการคงสัดส่วนยอดขายยางแท่งมาตรฐาน EUDR ที่ร้อยละ 30-40 ในครึ่งปีแรก และคาดว่าจะมากกว่าร้อยละ 50 ในครึ่งปีหลัง

พร้อม Spin-Off บริษัทลูก “TEBP” เข้า mai 

ปัจจุบัน TEGH อยู่ระหว่างการนำบริษัทย่อย “บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEBP” เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 75 ล้านหุ้น และจากผู้ถือหุ้นเดิม คือ TEGH เสนอขายหุ้นสามัญเดิมจำนวน 15 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 2568 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TEBP  ได้แก่ TEGH  ถือหุ้นใหญ่ 99.92% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดลงเหลือ 69.94% ครอบครัวโกกนุทาภรณ์  ถือ 0.08% หลังเสนอขาย เพิ่มเป็น 0.40% 

โบรกฯแนะซื้อ แนวโน้มปี 68 สดใส 

บล.ทรีนีตี้ เผยแพร่บทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TEGH โดยคงราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 4.9 บาท อิง PER 9 เท่า โดยระบุว่า มองแนวโน้มกําไรปี 2568 ค่อนข้างสดใส เนื่องจากธุรกิจยางยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการยาง EUDR ที่ยังสูงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีลูกค้าอีกหลายรายที่ต้องเริ่มสั่งยาง EUDR ในช่วงครึ่งหลังของปีเพื่อรองรับการผลิตและส่งออกในปีหน้า 
ขณะที่ธุรกิจปาล์ม นอกจากจะมีปัจจัยบวกภายในจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเพิ่มหม้อนึ่งใหม่ ยังมีผลบวกจากฤดูกาล เนื่องจากคาดว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เทียบกับภาวะแล้งในปีก่อนหน้า จะทําให้ปริมาณปาล์มโดยรวมเพิ่มขึ้น และอาจทําให้ราคารับซื้อผลปาล์มปรับตัวลงได้ 

ส่วนธุรกิจพลังงานคาดว่าจะเห็นรายได้และกําไรเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังสามารถรับรู้การขายก๊าซชีวภาพให้กับ GGC สําหรับประเด็นการปรับขึ้นภาษีนําเข้าของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการยกเว้นภาษียางดิบที่นําเข้า ส่วนยางล้อที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางล้อของสหรัฐฯ เองที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยหากมีการย้ายฐานการผลิต คาดว่าจะยังมีการนําเข้ายางแท่งจากทางบริษัทอยู่ดี ทําให้มองผลกระทบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไม่มาก