Talk of The Town

2 ยักษ์โรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย ไตรมาส 1/68 ฟาดกำไรโตแรง!


13 พฤษภาคม 2568

บทสรุปผลประกอบการงวดไตรมาส 1/68 ของ 2 บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย ทั้ง GULF และ GPSC ที่ล่าสุดรายงานกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น

2 ยักษ์โรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย_S2T (เว็บ) copy.jpg

โดย GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 มีกำไรสุทธิ 5,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยไตรมาส 1/2568 เป็นไตรมาสแรกที่บริษัทฯ รับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568

อีกทั้งในไตรมาส 1/2568 เริ่มรับรู้ผลกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ในประเทศ จำนวน 5 โครงการ (532 เมกะวัตต์) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2567 โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวจำนวน 206 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ 

นอกจากนี้ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 226 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/2567 เป็น 6.6 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้

อีกทั้งในไตรมาส 1/2568 รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 1,575 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU ซึ่งมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น การส่งเสริมการใช้งานเครือข่าย 5G ประกอบกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่แนวโน้มการเติบโต นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า เบื้องต้นคาดกำไรปกติไตรมาส 2/68 ของ GULF ที่ระดับ 6,000-6,300 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน แม้รับรู้ต้นทุนทาง การเงินที่สูงขึ้นจากการออกหุ้นกู้จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ในเดือน มี.ค. 2568 แบบเต็มไตรมาส 

เพราะได้แรง หนุนจาก 1. การเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของไทยซึ่งส่งผลให้ปริมาณขายไฟฟ้าของกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP และโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ในไทยเพิ่มสูงขึ้น 2. การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจาก ADVANC หลังรับรู้ ARPU ที่ สูงขึ้นจากการขึ้นราคา Package หลักแบบเต็มไตรมาส มีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารที่ดีขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และ 3.การเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ Data Center หลัง COD ในช่วงปลาย เดือน พ.ค. 2568

นอกจากนี้ ARPU ของ ADVANC ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า (ผลจากการปรับเพิ่มราคา Package หลัก) และการได้รับผลบวกจากต้นทุนที่ลดลงภายหลังการประมูลคลื่นของ ADVANC ราว 3 พันล้านบาท/ปี (บนสมมติฐานว่า ADVANC จะชนะการประมูลคลื่น 2100MHz กลับมาในราคาตั้งต้น) ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 26,268 ล้านบาท เติบโต 22% จากปีก่อน และปี 2569 จะอยู่ที่ 28,776 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน 

ดังนั้น ปรับราคาเหมาะสมขึ้นเป็น 57.00 บาท/หุ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยมองว่า GULF มีโอกาสเคลื่อนไหวได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจาก 1.การลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP เป็นหลัก ส่งผลให้ GULF ได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าไฟฟ้าของภาครัฐอย่างจำกัด 

2. เป็นหนึ่งในหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่และมี SET ESG Rating ที่ระดับ AAA ทำให้มีโอกาสได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนของกองทุน Thai ESGX และ 3.ฐานทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังการควบ รวมส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าลงทุนในโครงการหรือธุรกิจใหม่สูงที่สุดในกลุ่มฯ

GPSC กำไรโต 32%

ส่วน GPSC ไตรมาส 1/2568 มีกำไรสุทธิ 1,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก เงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า จำนวน 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท (ไตรมาสที่ 1ปี 2567 :16 ล้านบาท ) สาเหตุหลักมาจาก โรงไฟฟ้า XPCLมีผลประกอบการดีขึ้น จากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์ลานีญา 

AEPL มีผลประกอบการดีขึ้นตามปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามค่าความเข้มแสงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 

CFXD มีผลประกอบการลดลง จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยหลังจากการดาเนินการเชิงพาณิชย์เต็มจำนวนในเดือนมกราคม 2568 ขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีกำลังการผลิตที่ดีขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จาก 30 ต้น จากในไตรมาสที่ 1/2567 เป็นจำนวน 62 ต้นในไตรมาสที่ 1/2568 

อย่างไรก็ตามกังหันลมบางส่วนจำนวน 28 ต้น เดินเครื่องไม่เต็มประสิทธิภาพและอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงที่อยู่ใต้การรับประกันผลงานจากผู้รับเหมา 

TSR มีผลประกอบการลดลง 44 ล้านบาทจาก 64 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1/2567 เป็น 20 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จากราคาขายไฟฟ้าปรับลดลงเนื่องจาก Adder หมดอายุทั้งหมดในเดือนมิถุนายนปี 2567

ขณะที่แนวโน้มการเติบโต นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ไตรมาส 2/2568 คาดกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และประคองตัวจากไตรมาสก่อน เพราะประเมินว่าแนวโน้มรายได้เงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และการปรับตัวลงของต้นทุนเชื้อเพลิงจะถูกชดเชยด้วยการปรับลงของค่าไฟฟ้า

GPSC อยู่ระหว่างจำหน่ายสัดส่วนลงทุน 3.03% ใน Avaada Energy Private (AEPL) (ธุรกิจโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ในประเทศอินเดีย) ให้แก่ Avaada Ventures Private (AVPL) มูลค่า 79 ล้านเหรียญฯ ภายหลังธุรกรรมนี้ GPSC จะถือหุ้น AEPL 39.90% (vs เดิม 42.93%) 

โดยมองธุรกรรมครั้งนี้เป็นการปรับสัดส่วนถือหุ้นเพื่อกระจายการลงทุนให้เหมาะสม และสามารถ Realized มูลค่าการลงทุนใน AEPL ให้ชัดเจน ขณะที่ GPSC จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรลดลงเล็กน้อย ถือว่าไม่มีนัยสำคัญต่อฐานกำไรรวม อีกทั้งคาดจะบันทึกกำไรพิเศษ (หลังหักภาษี) ราว 800 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2568 ซึ่งไม่รวมอยู่ในประมาณการ ดังนั้นเบื้องต้นคาดปี 2568 จะมีกำไรสุทธิ 4.5 พันล้านบาท เติบโต 11.79% จากปีก่อน คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 39 บาท

2 ยักษ์โรงไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย_S2T (เพจ) copy.jpg