จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TGE อนาคตสดใส เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตลาดธุรกิจเชื้อเพลิงขยะแตะ 1.45 หมื่นลบ.


06 พฤษภาคม 2568
บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) อนาคตสดใสธุรกิจแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมูลค่าตลาดธุรกิจเชื้อเพลิงขยะปี 69 แตะ 1.45 หมื่นล้านบาท  ดีมานด์โตต่อเนื่อง

TGE อนาคตสดใส_รายงานพิเศษ S2T (เว็บ)_0.jpg
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ Refuse Derived Fuel (RDF) ในปี 2569 จะสูงขึ้นราว 15.1% แตะ 1.45 หมื่นล้านบาท จากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านการจัดการกับปัญหาขยะ และการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทน ซึ่งหนุนการขยายตัวของตลาดธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF
 
โดยผู้ใช้เชื้อเพลิง RDF แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

- ภาคไฟฟ้า โดย 64% ของ RDF นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยความต้องการ RDF ในภาคไฟฟ้า คาดว่าจะมีการเติบโตราว 16.8% จากปริมาณการใช้ RDF ที่มีการเร่งตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปี 2569 จะมีโรงไฟฟ้าขยะกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ ที่ถึงกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ
 
ความต้องการ RDF สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมของภาครัฐ ที่มีการตั้งอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะสูงกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 282.98 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2568-2569 มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ราว 3.66-5.78 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.22 บาท/หน่วย และ 3.10 บาท/หน่วย ตามลำดับ อัตรารับซื้อที่สูงกว่านี้ ได้ดึงดูดผู้ประกอบการมาลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากขึ้น ทำให้คาดว่าความต้องการ RDF แตะ 6 ล้านตันในปีหน้า
 
ขณะที่ความต้องการ RDF สำหรับภาคไฟฟ้า จะมากถึง 15 ล้านตันในปี 2580 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก 2567-2580 (ร่างแผน AEDP 2024) ที่มีเป้าหมายกาลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ RDF ทั้งจากภาคผลิตไฟฟ้าและความร้อน ส่งผลให้รายได้ของตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF ขยายตัวมากกว่าปี 2568  ขณะที่การเติบโตของปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศ อาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ RDF ในอนาคต จากจำนวนขยะมูลฝอยทั้งหมดมีเพียง 35% หรือ ราว 9.5 ล้านตัน ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ ขยะที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับแปรรูปเป็น RDF หรือ ถูกนำไปรีไซเคิล โดยในปี 2567 กว่า 82% ของขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ถูกนำไปผลิตจริงแล้ว
 
ดังนั้น การเติบโตของขยะมูลฝอยของประเทศไทย อาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการ RDF ทั้งในภาคไฟฟ้า และภาคผลิตพลังงานความร้อน ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ในระยะข้างหน้า การคัดแยกและรวบรวมขยะอย่างถูกต้อง เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องผลักดัน เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถแปรรูปเป็น RDF ได้
 
การเติบโตของธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ สอดคล้องกับการทำธุรกิจของ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน รวมทั้ง การรับบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ
         
โดยนายสืบตระกูล บินเทพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE ระบุแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน เฟส 1 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่ 1.จังหวัดชุมพร 2.จังหวัดราชบุรี 3.จังหวัดสระแก้ว และ 4.จังหวัดชัยนาท คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2569 เป็นต้นไป
 
ขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัท TGE ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อร่วมดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ผ่านการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ปีนี้ปรับตัวขึ้นตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
         
"นอกจากการเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแล้ว ในปีนี้บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และจะสร้างรายได้กับกลุ่มบริษัทฯ ในระยะยาว ล่าสุด TGE มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 2.2 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 เป็นต้นไป" นายสืบตระกูล กล่าว
TGE