จิปาถะ

รัสเซีย-เมียนมา-ยูเครน หนีไฟสงคราม แห่ซื้อคอนโดไทย ที่อยู่เซฟโซน


24 เมษายน 2567

“รัสเซีย-เมียนมา-ยูเครน” หนีไฟสงคราม แห่ซื้อคอนโดฯ ไทยบ้านหลังที่ 2 นักวิชาการจับตาสงครามอิสราเอล-อิหร่าน หากยื้อรุนแรง ทุบส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 3.8 แสนล้านวูบ ฉุดค้าโลกดิ่ง 1.4% แนะรัฐ-เอกชนตั้งรับเสมือนเกิดสงครามโลก ขณะบินไทยเผยบุ๊กกิ้งอาหรับเที่ยวไทยยังแน่น

รัสเซีย-เมียนมา-ยูเครน หนีไฟสงคราม copy.jpg

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และกลุ่มชาติพันธุ์ นำสู่การเกิดสงครามในเวลานี้อย่างน้อย 3 คู่ ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ การค้าของไทยและของโลก ประกอบด้วย สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี สงครามอิสราเอล-อิหร่านที่มีการยิงขีปนาวุธตอบโต้กันโดยตรงเป็นครั้งแรก แม้เวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังสงวนท่าทียังไม่มีการตอบโต้กันรอบใหม่

แต่ล่าสุด (20 เม.ย.67) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ 4 ฉบับ วงเงิน 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.4 ล้านล้านบาท เพื่อเติมกระสุนให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ ยูเครน อิสราเอล และไต้หวันเพิ่ม ขณะที่อิหร่านเตรียมรับมอบเครื่องบินขับไล่ซูคอย SU-35 จากรัสเซียเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพอากาศ สะท้อนภาพพัฒนาการของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน ยังไม่สามารถไว้วางใจได้

ขณะสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับไทย ยังมีการสู้รบระหว่างกองทัพทหารเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เป็นระยะ กระทบความปลอดภัยของประชาชน และการค้าชายแดนไทย-เมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกวงสงครามล้วนมีผลกระทบต่อไทย

รัสเซีย-เมียนมาแห่ซื้อคอนโด

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามที่เกิดขึ้น มีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยใน 2 ส่วน ส่วนแรก สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลให้ชาวรัสเชียและยูเครน เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นที่ปลอดภัย ส่วนที่สอง การสู้รบในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลมีชาวเมียนมาเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมระดับกลางๆ ถึงล่างในไทยมากขึ้น กระตุ้นตลาดอาคารชุดมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวดูดซับคอนโดมิเนียมระดับราคา 3 ล้านบาทลงมา ให้ระบายออกไปได้ และทดแทนกำลังซื้อของคนไทยที่มีจำกัดในเวลานี้ได้บางส่วน

“จากการสู้รบทำให้มีคนเมียนมา ซื้อคอนโดฯ ในไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กับพฤติกรรมและความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ จากสงครามที่เกิดขึ้นทำให้เขามองหาที่ปลอดภัย เป็นตัวหนึ่งที่เสริมกำลังซื้อในบ้านเราในระดับ 4 ล้านบาทลงมา ทำให้ตลาดดูไม่ซบเซาเกินไป”

ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2566 พบว่า ผู้ซื้อสัญชาติจีน เป็นกลุ่มที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศ โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 6,614 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.8 ของหน่วยทั้งหมด และอีก 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 1,260 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.7 สหรัฐอเมริกา 631 หน่วย ร้อยละ 4.4 เมียนมา 564 หน่วย ร้อยละ 3.9 และไต้หวัน 532 หน่วย ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

ชะลอลงทุนอสังหาฯซบทองคำ

อีกมุมในภาพรวมของสงคราม ส่งผลทางอ้อม มีส่วนให้การลงทุนในระยะยาวอย่างอสังหาริมทรัพย์ อาจชะลอออกไปเพื่อลดความเสี่ยงและหันมาลงทุนระยะสั้นที่ทำกำไรมากกว่า อาทิ ทองคำ ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้ช่วงกลางปีนี้ตลาดอสังหาฯยังไม่คึกคักนัก ทั้งนี้ประเมินว่าผู้ซื้อรายย่อยยังรอการตัดสินใจโดยดูทิศทางดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง

“มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาลที่ออกมายังไม่ออกฤทธิ์ จากติดปัญหากำลังซื้อ ที่ผู้บริโภคจะลำดับปัจจัยสำคัญก่อนหลังเช่น ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ซื้ออุปกรณ์การเรียน และเป็นช่วงฤดูฝน แต่จะเริ่มดีจริงๆ คือไตรมาส 4 ปีนี้” นายวิชัย กล่าว

จับตาทอง-นํ้ามันทำนิวไฮ

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่านหากไปต่อ มีความยืดเยื้อและขยายวง คาดการณ์ผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยที่สำคัญได้แก่ ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลง ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย โดยมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2,700-3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (ณ 23 เม.ย. 67 อยู่ที่ 2,326 ดอลลาร์สหรัฐต่ออนซ์) ซึ่งจะส่งผลต่อราคาทองคำแท่งและทองรูปพรรณในไทยปรับตัวสูงขึ้น(ราคาขายออก ณ 23 เม.ย.อยู่ที่บาทละ 40,500 และ41,000 บาท ตามลำดับ)

นอกจากนี้ค่าระวางเรืออาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 150-200% จากราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับขึ้นในระดับ 120-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กรณีหากสถานการณ์รุนแรงอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งนํ้ามันของโลก ราคานํ้ามันดิบมีโอกาสปรับขึ้นระดับ 120-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าที่ระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อการนำเข้าสินค้าของไทยที่ต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น

ยืดเยื้อทำค้าโลก-ไทยหด

“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ไอเอ็มเอฟยังไม่ปรับตัวเลขเศรษฐกิจโลกปี 2024 ลดลง แต่ยังคงไว้ที่ 3.2% แต่ไอเอ็มเอฟให้จับตาปัจจัยตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในมุมมองถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหายไป 0.5-1% หมายถึงขยายตัวเหลือ 3.0-3.1% ซึ่งเกิดจากการขนส่งในคลองสุเอซที่ลดลงไป 50% รวมถึงห่วงโซ่โลจิสติกส์ของสินค้ามีปัญหา ทำให้การค้าโลกปี 2024 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% อาจจะขยายตัวเท่ากับปี 2023 ที่ขยายตัวเพียง 1.2% หรือลดลง 1.4% จากที่คาดการณ์ไว้”

ขณะเดียวกันจากที่ไทยส่งออกไปตะวันออกกลาง (15 ประเทศ รวมอิสราเอลและอิหร่าน) ในปีที่ผ่านมาประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยไทยส่งออกไปอิสราเอล 776 ล้านดอลลาร์ และอิหร่าน 135 ล้านดอลลาร์ หากสถานการณ์ยืดเยื้อคาดจะกระทบการส่งออกไทยไปอิสราเอล อิหร่าน อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน และซีเรียที่อยู่รอบ ๆ จุดเสี่ยงของสงคราม ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ปีนี้อาจลดลงไป 0.5-0.6% ขณะที่การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางในภาพรวมปี 2566 ที่ไทยส่งออกมูลค่า 384,847 ล้านบาท ปีนี้มีโอกาสติดลบ 20-25% หากสงครามยืดเยื้อ

หาตลาดชดเชยตะวันออกกลาง

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ในอนาคตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงเพิ่มขึ้นในอีกหลายพื้นที่ที่รอปะทุ เช่นปัญหาในทะเลจีนใต้ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งไต้หวัน-จีน ดังนั้นจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังไม่น่าไว้ใจมีข้อเสนอแนะภาครัฐและเอกชน ดังนี้ 1.เตรียมหาตลาดส่งออกชดเชยตะวันออกกลาง 2.เตรียมแผนรับมือกรณีราคานํ้ามันดิบปรับสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

3.เตรียมแผนการผลิต ส่งออก และบริโภคภายในภายใต้สถานการณ์สมมุติเกิดสงครามโลก โดยบริหารจัดการอาหาร วัตถุดิบการผลิตและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพให้พร้อม และ 4.แผนบริหารการขนส่งสินค้าและต้นทุนค่าขนส่งของสินค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

“ทูน่า-อาหาร”ออร์เดอร์ทะลัก

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น กรณีอิสราเอล-อิหร่านมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทย และส่งผลทั้งด้านบวกและลบ ผลกระทบทางตรงคือราคานํ้ามัน และค่าระวางเรือ ทำให้สินค้าส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปอิสราเอลและอิหร่านไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหาร ในมุมหนึ่งจากสงครามทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทผลิตและส่งออกทูน่า และปลากระป๋องที่ตนดูแลอยู่ได้รับคำสั่งซื้อเต็มกำลังผลิตไปถึงเดือนกันยายนแล้ว

ขณะที่นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิต จำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า เนื่องด้วยปัจจุบันบริษัทมุ่งทำการตลาดในโซนยุโรปเป็นหลัก

บุ๊กกิ้งเที่ยวไทยแน่นแต่ยังต้องจับตา

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย บุ๊กกิ้งที่จองมายังไม่มีการยกเลิก ประกอบกับกำลังจะหมดช่วงพีคซีซั่นแล้ว ส่วนไฮซีซั่นรอบใหม่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์ไม่บานปลาย คาดการณ์ไม่ส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวลดลงกว่าเดิม ด้วยเงื่อนไขจำกัดจากเที่ยวบินเข้าออก ที่มีเพียง 2 สายการบินเข้าไทย คือ แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ส และสายการบินเอมิเรตส์

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมไทยโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวไทยของต่างชาติ แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์ เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งหากความรุนแรงมีการขยายวงกว้าง เพราะถ้าเกิดส่งผลกระทบผู้ประกอบการโรงแรมก็ต้องหาตลาดอื่นมาทดแทน

ด้าน นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากการตรวจสอบเที่ยวบินที่ให้บริการในปัจจุบัน รวมไปถึงเที่ยวบินที่ทำการจองไว้ล่วงหน้ายังไม่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของอิหร่านและอิสราเอล โดยยอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ยังมีการเดินทางตามปกติ ไม่มีการยกเลิก ขณะนี้การบินไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะแจ้งความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/594355