Talk of The Town

ย้อนรอยเหตุการณ์ “สงคราม” ตลาดหุ้นไทยโดนลูกหลงขนาดไหน?


23 เมษายน 2567
ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปะทุความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้สินทรัพย์เสี่ยงได้รับผลกระทบเชิงลบตามไปด้วย ดังนั้นในวันนี้ทีมข่าว Share2Trade จะพานักลงทุนมาย้อนไทม์ไลน์กันดูว่า ในแต่ละความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระดับโลก ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบมาให้แล้ว

TOT แนวนอน ย้อนรอยเหตุการณ์ “สงคราม”.jpg


เริ่มกันที่ความขัดแย้งในแถบประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา หากย้อนกลับไปในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศยึดอำนาจ บุกจับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และสมาชิกเอ็นแอลดี หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีแรงต่อต้านอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ถ้าอิงกับวันประกาศยืดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ1,478.05 จุด เพิ่มขึ้น 11.07 จุด จากดัชนีปิดของวันก่อนหน้า
แต่อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในเมียนมายังลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงที่ผ่านมายังประทุความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2567 ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด กองทัพเมียนมาระดมอากาศยานทิ้งระเบิดใส่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ทำให้เกิดความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นทหารเมียนมา 

โดยประเมินเป็นจิตวิทยาลบต่อหุ้นที่มีธุรกิจรายได้จากเมียนมา อาทิ MEGA ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและสินค้าอุปโภค (สัดส่วนรายได้เมียนมารา 35%) , PTTEP รายได้ 11% ได้รับจาก PTT โดยตรงเป็น USD เข้าบัญชีในไทย ส่วนการจ่ายเงินในพม่าเป็นจ๊าด ทำจ่ายจากบัญชีนอกประเทศ จึงบริหารจัดการได้, กลุ่มเครื่องดื่ม OSP และ CBG มีสัดส่วนรายได้ 10% กลุ่มโรงพยาบาล BH, THG, CHG

ขณะที่อีกหนึ่งความขัดแย้งระดับโลก อย่าง รัสเซีย และยูเครน หากนักลงทุนยังจำได้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียเปิดฉากส่งกำลังทหารกว่า 2 แสนนายบุกข้ามชายแดนเข้าสู่ยูเครน โดยไม่สนใจท่าทีคัดค้านจากนานาชาติ และอ้างว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหาร เพื่อกวาดล้างลัทธินีโอนาซี ในรัฐบาลยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี

จากประเด็นรัสเซีย บุกยูเครน ในวันดังกล่าว ส่งผลทำให้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ในวันเดียวกัน ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,662.72 จุด ลดลง 33.73 จุด จากดัชนีปิดของวันก่อนหน้า ตอกย้ำสถานการณ์ ความกังวลถึงความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

ต่อมาอีกประเด็นที่ต้องกล่าวถือ คือ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้วยจรวดขีปนาวุธจำนวนราว 2,200 ลูก ทำให้พื้นที่หลายแห่งเสียหาย และมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เป็นเหตุให้ทางการอิสราเอล เรียกทหารกองหนุนเข้าประจำการกว่า 465,000 นายทั่วประเทศ รวมทั้งยังเรียกกำลังพลสำรองอีกกว่า 300,000 นาย และส่งทหารกองหนุนราว 100,000 นาย ไปยังชายแดนทางใต้ที่ติดกับฉนวนกาซา เพื่อเปิดฉากการสู้รบกับกลุ่มฮามาสทันที 

หากอ้างอิงวันดังกล่าว หรือ วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งตรงกลับวันเสาร์ที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ แต่อย่างไรก็ตาม หากสำรวจดัชนีตลาดหุ้นไทย ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 ปิดการซื้อขายที่ระดับ ปิดวันนี้ที่ 1,431.72 จุด ลดลง 6.73 จุด
ซึ่งในช่วงนั้น หลายสำนักวิจัยต่างให้เหตุผลเดียวกันว่า “กังวลสงครามกลุ่มฮามาสและอิสราเอล” ที่จะขยายวงกว้าง

โดยความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังไม่จบ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 เม.ย.2567 อิสราเอลเริ่มจับสัญญาณได้ว่ามีการยิงโดรนจากอิหร่านเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งโดรนเหล่านี้ข้ามมาถึงน่านฟ้าอิสราเอลและถูกยิงสกัดได้เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่เสียงไซเรนเตือนภัยและเสียงระเบิดดังขึ้นในหลายเมืองทั่วอิสราเอล ซึ่งรวมถึงกรุงเทลอาวีฟ และเยรูซาเล็ม

ล่าสุดมีกระแสข่าว อิสราเอล ได้เปิดการโจมตีเอาคืน อิหร่าน แล้วเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ หรือเช้าตรู่วันที่ 19 เม.ย. ตามเวลาตะวันออกกลาง จากประเด็นนี้ ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,332.08 จุด ลดลง 28.94 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.76 หมื่นล้านบาท

แต่ถ้าดูจากสถิติ และหลายสำนักวิจัย ให้มุมมองเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเกิดสงคราม ราคาทองคำ และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงทันที ขณะที่ตลาดหุ้น ส่วนมากจะตอบรับในเชิงลบ ดังนั้นประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด

แต่หากสำรวจคำทำนายจากนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมิน สงครามกับการลงทุน ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ประเด็นอิหร่าน โจมตีอิสราเอล ด้วยขีปนาวุธและโดรน เมื่อ 13 เม.ย.แต่ถูกสกัดได้เกือบทั้งหมด มีการวิเคราะห์ว่าอิหร่านทำแบบนี้เพื่อเตือน โดยอิหร่าน ส่งสัญญาณไปที่สหรัฐฯ ว่าจะทำด้วยความ ระมัดระวัง แม้จะยังไม่มีการโต้กลับจากอิสราเอล 

โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองเป็นความเสี่ยง (อิสราเอลค่อนข้างดุดันในช่วงนี้) ราคาทองคำและดอลลาร์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องนี้ สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก ถูกกระทบจากนักลงทุนชะลอการลงทุนสินทรัพย์ ที่เป็น Risky Assets

ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent เกาะอยู่แถวๆ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากสงครามไม่ได้พัฒนาการไปอย่างมีนัยสำคัญ ประเมินราคาน้ำมัน ไม่น่าจะไปไกลเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ (ที่มา : Goldman Sachs)

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีความเห็นว่า จากการศึกษาข้อมูลในอดีตช่วงที่เกิดสงคราม แน่นอนว่าส่งผลลบต่อตลาดหุ้น โดยถ้าอิงสงคราม 3 ครั้งหลังสุด คือ รัสเซีย-ยูเครน (ปี 2564-65), ไครเมีย (ปี 2557), และอิรัก(ปี 2546) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ปรับตัวลงจาก Peak ของรอบเฉลี่ย 10.5% ซึ่งรอบนี้ลง มาแล้ว 4.8% 

ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงน้อยกว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% แต่หลังสงกรานต์ ปรับลงมาแล้ว 5.2% ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันยังจำกัดมาก เพราะ ธุรกรรมการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลและอิหร่านมีสัดส่วนรวมกันไม่ถึง 1% และทั้งตะวันออก กลางมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 5% 

ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่ต้องติดตาม คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น จะทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น ส่งผลให้ GDP โตต่ำ, เงินบาทอ่อนค่า, และ ดอกเบี้ยค้างสูงนาน 

โดยกลุ่มที่ดูปลอดภัยในช่วงนี้ คือ พลังงานต้นน้ำและขนส่งทางเรือ เช่น PTTEP, BCP, PSL, RCL กลุ่ม Defensive เช่น BDMS, 3BBIF, INETREIT หรือกลุ่มค้าปลีก และเครื่องดื่ม เช่น CPALL, BJC, CPAXT, ICHI ส่วนกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง คือ ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์, เทคโนโลยี, ท่องเที่ยว, โรงไฟฟ้า


ย้อนรอยเหตุการณ์ “สงคราม”-01.jpg