Talk of The Town

ผ่าอนาคต 6 บริษัท เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ในไทย


12 เมษายน 2567

นักลงทุนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า บริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในตลาดหุ้นไทยมีใครกันบ้าง? 

ผ่าอนาคต 6 บริษัท copy.jpg

โดยหุ้นโรงไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายๆ ฝ่ายต่างยกให้เป็น หุ้น Defensive Stock ที่ทนทานต่อความผันผวนได้ดี

สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าที่รู้จักกันจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล และ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าขยะ, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น

แต่ถ้าจะพูดถึงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในตลาดหุ้นไทยมีอยู่จำนวนมาก ดังนั้น Share2Trade จะหยิบยก 6 หุ้นผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าว ที่นักลงทุนถามเข้ามาบ่อยครั้ง มาฝากนักลงทุน

EA ขยายลงทุนต่อเนื่อง

เริ่มกันที่ EA ผู้ดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นมี กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานมี 12 โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ (MW)

ได้แก่ 1. โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 4 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิต 278 MW และ 2.โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 8 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิต 386 MW

ขณะที่ในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “TRADING” ที่ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ที่ 40 บาท/หุ้น 

โดยธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทมีแผนการเพิ่มกำลังผลิตทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยการเพิ่มกำลังผลิตจากแสงอาทิตย์จะได้แรงหนุนจากการที่เริ่มทำสัญญา Private PPA กับภาคเอกชน 

เช่น โรงงาน ตึกออฟฟิศ และ สนามบิน (ผ่าน JV ที่ทำร่วมกับ AOT) ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะ บริษัทคาดจะมีการลงทุนต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 1 โครงการ ขนาด 8 MW)

ส่วนธุรกิจ EV บริษัทให้ข้อมูลว่าในปี 2567 จะเน้นเพิ่มการส่งมอบรถ EV Truck เป็นหลัก (ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งมอบ EV Bus) และ วางเป้าหมายการส่งมอบรถ EV Truck ราว 3,700 คัน (ราคาขายราว 4.5 ล้านบาท/คัน) ในปีนี้ 

บริษัท คาดการส่งมอบรถจะเริ่มเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2/67 (คาดราว 700-900 คัน) และเริ่มทรงตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/67 เป็นต้นไป นอกกจากนี้จะมีการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติมในเส้นทางที่กลุ่มลูกค้ามีการใช้งาน (บริษัทเป็นเจ้าของและมีการขาย ไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จ)

ส่วนธุรกิจแบตเตอรี่ บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังผลิตเป็น 2GWh (จากเดิม 1GWh) โดยคาดการติดตั้งเครื่องจักรจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาส 2-3/67 และจะเริ่มการทดลองระบบในช่วงครึ่งหลังปี 67 โดยกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นจะถูกใช้เพื่อรองรับคำสั่งซื้อ EV Truck ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง (ผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ)

GUNKUL ตุนกำลังผลิต 1,458.9 MW

ต่อด้วย GUNKUL นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ที่ 4.20 บาท/หุ้น โดยปัจจุบัน GUNKUL มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนของการถือหุ้น 1,458.9 MW 

แบ่งเป็น 1. กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทย 1,212.6 MW (ราว 83%ของกำลังผลิตรวม) 2. กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม 160 MW (ราว 11% ของกำลังผลิตรวม) 

3. กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น 65.3 MW (ราว 4% ของกำลังผลิตรวม) และ 4. กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในมาเลเซีย 21 MW (ราว 2% ของกำลังผลิตรวม)

สำหรับการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้า วางเป้าหมายการขยายกำลังผลิตเป็น 2,000 MW ภายในปี 2569 ทั้งจากการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มเติมผ่านการเสนอขายไฟฟ้าในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่วนขยายของ กกพ. (3.6GW) (คาดมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 67) และการทำ M&A โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของธุรกิจ Solar Rooftop

ส่วนธุรกิจ EPC ปัจจุบันมี Backlogs อยู่ราว 6 พันล้านบาท โดยการเติบโตระหว่างปี 2567-69 จะได้รับแรงหนุนจากการเข้าประมูลโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงและระบบไมโครกริด รวมถึงงานก่อสร้างระบบรถ APM และ Monorail ที่มีกำหนดเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 2-4/67 มูลค่ารวมราว 2.2 หมื่นล้านบาท

SUPER ลุยประมูลโรงไฟฟ้าเพิ่ม

อีกหนึ่งหุ้นที่ต้องพูดถึง คือ SUPER ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตตามปริมาณเสนอขายตาม PPA ที่ 2,369.79 เมกะวัตต์ COD ไปแล้ว 1,626.11 เมกะวัตต์ 

ในช่วงที่ผ่านมา นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUPER ระบุว่าในปี 2567 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต สร้างสถิติสูงสุดใหม่ จากปี 2566 มีรายได้รวม 10,130.71 ล้านบาท

โดยรายได้ในปีนี้จะมาจากการทยอยรับรู้รายได้เชิงพาณิชย์ (COD) วินด์ฟาร์มในเวียดนาม กำลังการผลิต 30 MW และในปี 2568 จำนวน 100 - 141 MW 

รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โซลาร์รูฟท็อป โครงการการขยายงานสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) และโครงการ SPP HYBRID เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเข้าประมูลขายไฟฟ้าในส่วนของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,600 - 5,000 MW ของภาครัฐ โดยตั้งเป้าได้งานไม่น้อยกว่า 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

SSP ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

ขณะที่ SSP ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ 

โดย ณ 31 ธันวาคม 2566 มีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 245 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและระหว่างการพัฒนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 16.4 MW

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมที่ 11.40 บาท โดยคาดกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 1,031 ล้านบาท เติบโต 26.97% จากปีก่อน 

SSP มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา 11 โครงการ ขนาดรวม 409.1 MW (ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการถือหุ้นในแต่ละโครงการ) 

แบ่งออกเป็น 1) โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 1 โครงการขนาด 16.4MW 2) โครงการแสงอาทิตย์ในไต้หวัน 1 โครงการ ขนาด 17MW 3) โครงการ WTE ในไทย 2 โครงการขนาดรวม 16.9MW 4) โครงการแสงอาทิตย์ในไทย 3 โครงการ ขนาดรวม 90.5MW 

5) โครงการลมในฟิลิปปินส์ 1 โครงการ ขนาด 150MW และ 6) โครงการลมในไทย 3 โครงการ ขนาดรวม 118.3MW ซึ่งมีกำหนด SCOD ระหว่างปี 2568-2573 ใช้เงินลงทุนรวม 2.6 หมื่นล้านบาท

TPCH ปี 69 วางเป้ากำลังผลิตพุ่ง 500 MW

TPCH ในรายงานประจำปี 2566 เปิดเผยปี 2566 มีกำลังการผลิตรวม 90.2 MW สำหรับ 7 โรงไฟฟ้าชีวมวล (CRB, MWE, MGP, TSG, SGP, PGP, PTG) และ 1 โรงไฟฟ้าขยะเพื่อชุมชน (SPNT) 

ในช่วงที่ผ่านมานาย เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจปี 2567 ว่า ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อน 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มอีก ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ

ขณะที่ การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ในสัดส่วน 40% และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว มีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 

และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1-2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ TPCH ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569

TGE ปี 2575 เป้ากำลังการผลิต 200 MW

ปิดท้ายที่ TGE ในช่วงที่ผ่านมา นายสืบตระกูล บินเทพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ข้อมูลว่า ในปี 2575 วางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 200 MW ปัจจุบันกลุ่มบริษัท TGE มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 76.6 MW

แบ่งเป็นธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW จำนวน 3 โครงการ และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 39.9 MW จำนวน 5 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปลายปี 2568 รวมทั้งมีธุรกิจรับบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 7 MW

นอกจากนี้ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา บริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 MW คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเร็วๆ นี้

อีกทั้งปี 2567 บริษัทเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม และได้เริ่มบริหารจัดการโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยเน้นด้านพลังงานสะอาด ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจ

ผ่าอนาคต 6 บริษัท 1-1 copy.jpg