จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : SUPER ตอกย้ำผู้นำด้านพลังงานทดแทน ตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเป็นตัวกลางสร้างค่าธรรมเนียม


29 มีนาคม 2567

บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ตอกย้ำเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน เตรียมตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต หวังเป็นตัวกลางผู้ซื้อและผู้ขาย คาดชัดเจนภายในปีนี้ ขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 70-80 ล้านบาท  

รายงานพิเศษ SUPER ตอกย้ำผู้นำด้านพลังงานทดแท.jpg

ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้บรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่สามารถช่วยให้การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนการลดที่ต่ำที่สุดและยังช่วยแก้ปัญหาผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externality) 

โดยทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษ หรือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีต้นทุนในปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ต้องบรรเทา หรือ ชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน ด้วยการทำให้การปล่อย หรือ การลดก๊าซเรือนกระจกมีราคา และตลาดคาร์บอนจะเป็นสื่อการในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งกลไกตลาดจะทำให้เกิดจุดดุลยภาพ (equilibrium) ทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนการลดที่ต่ำที่สุด

โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและ

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด

ซึ่งศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพลาส ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตลาดการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ในไทยมีแนวโน้มเติบโต ตามความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยภาครัฐมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูงถึง 71.6%

REC ที่นำมาซื้อขายจะต้องผ่านมาตรฐานการรับรองคุณลักษณะทางพลังงาน (Energy Attribute Certificate: EAC) ซึ่งมาตรฐาน EAC สำคัญๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 มาตรฐาน ได้แก่

1. มาตรฐาน US Renewable Energy Certificate Schemes (US RECs)

2. มาตรฐาน European Energy Certificate System - Guarantee of Origin (EECS-GO)

3. มาตรฐาน International REC Standard (I-REC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับรอง REC ที่ได้รับสิทธิ์จาก I-REC

การซื้อขายจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อชดเชยกับการสร้างภาวะโลกร้อนของบริษัทต่างๆ  สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER)  ซึ่ง “จอมทรัพย์ โลจายะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า  บริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้งตลาดกลาง(Market Place) เพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขาย  คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ 

โดยในส่วนของการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ  I-REC ของบริษัท ยังเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นรายได้จากการขาย I-REC หรือ เพิ่มขึ้นจากปี 66 จากแนวโน้มราคาที่สูงขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 70-80 ล้านบาท