Talk of The Town

มาแน่! Digital Wallet เสกเงินหมื่น CPALL-CPAXT-BJC ลูบปากรอ


27 มีนาคม 2567
TOT แนวนอน Digital Wallet เสกเงินหมื่นเข้ากระเป๋ามาแน.jpg

ยังเป็นที่ถกเถียงในสังคมวงกว้าง “รัฐบาลเศรษฐา” จะแจกเงิน 1 หมื่นบาท เข้ากระเป๋าดิจิทัล ได้ตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่???


...เพราะเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทย ใช้หาเสียง 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าจะไม่เลื่อนจากแผนการเดิมที่คาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ 

โดยเงื่อนไขหลักจะไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ได้ลดจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน 

ส่วนกรอบเวลาชัดเจนนั้นทาง บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน จะมีการประชุมสรุปรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย. ก่อนส่งเรื่องให้ ครม.

บทวิเคราะห์จากบล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ดูเหมือนตลาดจะผิดหวังต่อประเด็นดังกล่าว และ SET Index ไม่ได้มีการตอบรับเชิงบวกต่อข่าวแต่อย่างใด คาดส่วนหนึ่งเกิดจาก Timeline การเบิกจ่ายเม็ดเงินที่ต้องรออีกนานไปจนถึงไตรมาส 4 ส่วนอีกด้านหนึ่งอาจยังคงเป็นความกังวลเดิมเกี่ยวกับความชัดเจนของแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่อาจยังคงเป็นกังวลต่อวินัยการคลังของประเทศ

“เรายังคงมุมมองเดิมว่า ตลาดมีความกังวลเกินไปต่อปัจจัยวินัยการคลังดังกล่าว โดยเราเชื่อว่าหากสุดท้ายโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน จนนำมาสู่ Multiplier effect ในระบบเศรษฐกิจ และการขยายตัวของฐานเงินหรือ M2 ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องการอย่างมาก ณ เวลานี้”

ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากประมาณการของ รปท. ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ พบว่าโครงการ Digital Wallet ดังกล่าวจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทย (GDP) ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานได้ราว 0.6 และการบริโภคให้เติบโตสูงขึ้นจากกรณีฐานราว 1.0% มองปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ยังไม่อยู่ในราคา ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะถือเป็น Upside risk ที่สำคัญสำหรับกลุ่มหุ้นที่อิงกับการบริโภคภายในอย่างเช่นกลุ่มค้าปลีกได้ อาทิ CPALL, CPAXT, BJC เป็นต้น

สำหรับประเด็นความเสี่ยงหนี้สาธารณะ และอันดับเครดิตของประเทศที่อาจถูกกระทบจากการกู้เงินรอบใหม่ของรัฐบาลนั้น เราไม่เป็นกังวลใจแต่อย่างใด โดยหากอ้างอิงความเห็นจากเหล่าบรรดา Rating agencies ก่อนหน้านี้จะพบว่าแม้ภาระหนี้จะสูงขึ้น แต่คาดการณ์อัตราส่วนวินัยการคลังของไทยจะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังได้ อาทิ อัตราส่วนระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่  70% เพราะต้องอย่างลืมว่าตัวแปร GDP ซึ่งเป็นฐานในสมการนี้ จะมีการปรับสูงขึ้น จากมาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกัน หรือหากจะพิจารณาจากมิติการขาดดุลงบประมาณ แม้ภาครัฐจะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องอย่าลืมว่ารายได้ของรัฐก็จะสูงขึ้นเช่นกันจากรายรับภาษีที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน