จิปาถะ

หมอเฉลยทำ IF 16/8 เสี่ยงโรคหัวใจเพิ่ม ชี้ เป็นแฟชั่นลดน้ำหนัก แถมต้องระวังในกลุ่มผู้ป่วย


21 มีนาคม 2567

หมอเฉลยทำ IF 16/8 เสี่ยงโรคหัวใจเพิ่ม ชี้ เป็นแฟชั่นลดน้ำหนัก แถมต้องระวังในกลุ่มผู้ป่วย

หมอเฉลยทำ IF 16 8.jpg

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ American Heart Association เผยแพร่โปสเตอร์งานวิจัยทางการแพทย์ ที่พบว่าการทำ Intermittent Fasting หรือ IF สูตรกิน 8 ชั่วโมง อด 16 ชั่วโมง เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 91 โดยหลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวก็สร้างความฮือฮาในวงการสุขภาพอย่างมาก ว่า การทำ IF คือการกำหนดเวลารับประทานอาหาร อย่างที่ได้รับความนิยมมากคือ 16/8 การกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง ซึ่งส่วนหนึ่งของการทำ IF นั้น ก็ได้รับอิทธิพลมาจากบางวัฒนธรรม นำมาประยุกต์ใช้ เช่น การถือศีลอด ดังนั้น จึงไม่ได้มีข้อห้ามว่าไม่ควรทำ IF เลย ต้องเรียนว่าการศึกษาเรื่องการทำ IF เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาที่ได้และไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งต้องย้ำก่อนว่า เดิมทีการทำ IF ก็ไม่ใช่แนวทางที่ดีต่อสุขภาพมากนั้น และไม่ใช่การรักษาโรคด้วย แถมยังต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ

นพ.ฆนัทกล่าวกล่าวว่า การทำ IF ไม่ได้เหมาะกับทุกคน และการจะเริ่มทำนั้น ก็จะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะการศึกษาที่กำลังเป็นประเด็นในตอนนี้ ก็มีข้อสังเกตอยู่หลายเรื่อง คือ 1.ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาฉบับเต็มออกมาชัดเจน 2.ต้องดูความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ใช้ศึกษา และ 3.การศึกษาดังกล่าวไม่ได้นำไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ทำ IF จึงต้องรอดูการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง

“การทำ IF เป็นเหมือนแฟชั่นในกลุ่มผู้ที่หวังจะลดน้ำหนัก ซึ่งวิธีนี้ก็จะเหมือนการลดน้ำหนักวิธีอื่นๆ คือในช่วงแรกจะได้ผลดี เนื่องจาก IF เป็นการอดอาหารในช่วงหนึ่ง ส่งผลให้พลังงานในการบริโภคอาหารน้อยลง กระตุ้นการหลั่งอินซูลินน้อยลง ทำให้มีการดึงไขมันออกไปใช้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้ ส่วนคำถามว่าถ้ามีข้อมูลเช่นนี้แล้ว คนที่ทำ IF ต้องทำอย่างไร คำแนะนำคือ สามารถทำต่อไปได้ ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพ” นพ.ฆนัทกล่าว

เมื่อถามว่าหากจะทำ IF จะต้องประเมินสุขภาพอย่างไรบ้าง นพ.ฆนัทกล่าวว่า ตนเป็นแพทย์ด้านโรคหัวใจ จึงมีคำแนะนำว่าหากจะทำ IF ควรประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ก็ต้องประเมินความรุนแรงของโรคประกอบกับยาที่ผู้ป่วยใช้รักษาโรคอยู่ในขณะนั้น ก่อนจะตัดสินให้มีการเริ่มทำ IF

“จุดนี้อาจบอกได้ว่าการทำ IF ไม่ได้ดีต่อสุขภาพทั้งหมด ดังนั้น ไม่ใช่ใครก็อยู่ดีๆ ทำ IF ได้ ต้องผ่านการประเมินสุขภาพและควรอยู่ในการดูแลของแพทย์” นพ.ฆนัทกล่าว

ถามต่อว่าการทำ IF สามารถทำต่อเนื่องได้หรือไม่ นพ.ฆนัทกล่าวว่า จริงๆ การศึกษาในปัจจุบันยังก็ยังไม่มีผลศึกษาชัดเจนว่ากลุ่มผู้ที่แข็งแรงดี สามารถทำ IF ไปได้นานแค่ไหน ฉะนั้นตามหลักการแล้วก็สามารถทำได้ และต้องระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

“เมื่อมีข้อมูลเรื่องโรคหัวใจกับการทำ IF ออกมา ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร เดิมทีนั้น ก็ไม่ได้มีผลศึกษาชัดเจนว่า IF เป็นสิ่งที่ดี หรือแนะนำให้คนทั่วไปทำอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเป็นแฟชั่น เพราะผลลัพธ์ค่อนข้างเร็ว แต่ระยะยาวนั้นก็ไม่ได้ต่างกับวิธีการลดน้ำหนักอื่นๆ” นพ.ฆนัทกล่าว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4484268