จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเปิดบริการครบวงจร ติดปีก LEO รายได้ขนส่งสินค้าทางราง ปี67 ก้าวกระโดด


01 กุมภาพันธ์ 2567
รถไฟความเร็วสูงจีน -ลาว โอกาสขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย  ผลจากการขนส่งสินค้าทางรางเป็นระบบที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ธนาคารกรุงไทยคาดปี66 การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว แตะเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และหนุนรายได้ขนส่งทางราง LEO  โตก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 67 

รายงานพิเศษ รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเปิดบริ.jpg

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ได้ขยายระยะทางขนส่งผู้โดยสารข้ามประเทศจากนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ถึงนครคุนหมิงของจีน จากช่วงแรกที่ให้บริการเฉพาะภายใน สปป.ลาวเท่านั้น ส่งผลให้สามารถขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างจีน ลาว และไทยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายการค้าการลงทุนในจีนและลาว รวมถึงโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวลาวที่มีแนวโน้มเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ด้วยสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยในปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ -1.3%YoY อย่างไรก็ดี การส่งออกผ่านแดนไปจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวผ่านด่านหนองคายที่คาดว่า ในปี 2566 จะแตะระดับเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวถึง 4 เท่าตัว และคาดว่าในปี 2573 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2566    

นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเฉพาะจากมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมถึง 4 พื้นที่ใกล้เคียงที่สามารถเดินทางถึงกันได้ทางรถไฟ ได้แก่ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเพียง 1% หรือราว 2.5 ล้านคน จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยราว 4,685 ล้านบาทต่อปี

การเติบโตของการขนส่งระหว่างจีน- ลาว  ส่งผลดีต่อธุรกิจของ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์  (LEO)  สะท้อนจาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ระบุว่า บริษัท ล้านช้าง เอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง LEO บริษัท ศรีตรัง โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด ได้รับความไว้วางใจจาก "CRCT Asean International Logistics Sole Co., Ltd." บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองปักกิ่ง เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรางจำนวน 32 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยเป็นการให้บริการขนส่งแบบรางต่อราง (Rail to Rail) 
         
"ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านโครงการเส้นทางรถไฟ ลาว-จีน (Laos China Railway) ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟ เส้นทางสายไหมใหม่ - Belt and Road Initiative (BRI)" และ "เส้นทางสายแพนเอเชีย - Pan-Asia Railway Network" ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งระหว่างประเทศ ที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย เข้าด้วยกัน" นายเกตติวิทย์กล่าว
          
สำหรับการขนส่งทางรางในครั้งนี้ ทั้ งสององค์กรได้มีการจัดการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าระหว่างรถไฟจากจีนกับรถไฟจากไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเวลาที่กำหนด ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ผ่าน จีน, สปป.ลาว และไทย ข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 ผ่านด่านศุลกากรหนองคาย ประเทศไทย ซึ่งในการขนส่งทางรางขบวนสินค้าขบวนนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบสองปี ของการเปิดเดินขบวนโครงการเส้นทางรถไฟ ลาว-จีน (Laos China Railway) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
        
การขนส่งสินค้าทางรางครั้งนี้ ยังได้ร่วมปฏิบัติงานกับองค์กรใน สปป.ลาว คือ "LAO Nation Railway Co., Ltd.  LNR" และ "Houng Ah Loun Logistics Co., Ltd.  HAL" ในขอบข่ายการประสานงานทั้งเรื่องพิธีการศุลกากร การประสานงานนำขบวนรถไฟของจีนเข้ามายังพื้นที่เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า และการให้บริการขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างขบวนรถไฟจีนกับขบวนรถไฟไทยบริเวณพื้นที่เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าทางราง (Rail to Rail) ซึ่งเป็นไปด้วยความรวดเร็วใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการขนถ่ายเพียง 2 นาทีต่อตู้สินค้า นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับอีกหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ  "SCGJWD LOGISTICS PCL."  ในการบริหารการจัดส่งสินค้าทางถนน โดยรถบรรทุกขนส่งพลังงานไฟฟ้า Electric Vehicle Truck (EV Truck) 
        
อีกทั้ง ยังได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions Freight Operating) โดยสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อ้างอิงข้อกำหนดมาตรฐาน ISO14067 ใช้เป็นแนวทางการวัดค่าและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ (Green Logistics) อีกด้วย
          
ล้านช้าง เอ็กซ์เพรส มีความพร้อมและความสามารถในการให้บริการขนส่งทางรางแบบไร้รอยต่อ Seamless Rail Transport services ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ภายใต้สโลแกน "โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics)" และถือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางรางได้อย่างครบวงจรให้กับทาง LEO รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit)  อีกด้วย  โดย LEO จะรับทำหน้าที่ในส่วนของการวางแผนการตลาดและการขาย ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยทำให้รายได้จากการขนส่งสินค้าทางรางของบริษัท LEO มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2567 เป็นต้นไป
LEO